เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟฯ เปิดเวทีถกผู้นำธุรกิจอาเซียนนำ “ESG – BCG” สร้างแบรนด์ยั่งยืนทั้งภูมิภาค พร้อมเปิดพื้นที่โชว์ความล้ำจาก 20 มหาอำนาจ อุตฯพลาสติกและยางใน “ทีพลาส 2023” ไฮไลต์เมกะเทรนด์ “ศก.หมุนเวียน – รีไซเคิล 100%”
- เปิดฉากมหกรรม “T-PLAS 2023” 250 บ.ชั้นนำ เข็นนวัตกรรมใหม่อวดโฉม ตอกย้ำไทยพื้นที่ยุทธศาสตร์การผลิตพลาสติกและยางเบอร์ใหญ่ภูมิภาค พร้อมหนุนดีมานด์ไทยกับการส่งออกพลาสติกชีวภาพ 90%
กรุงเทพฯ 21 กันยายน 2566 - เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง เปิดแพลตฟอร์มโชว์เคสนวัตกรรมในมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 โดยการจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นบทบาทเทคโนโลยีการผลิตสินค้าที่รีไซเคิลได้ 100% แนวทางลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านตัวอย่างนวัตกรรมล้ำสมัยจาก 250 บริษัท 20 ประเทศชั้นนำทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีผลักดันการสร้างแบรนด์แห่งความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการกำหนด 3 วาระสำคัญ ได้แก่ ความท้าทายของเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแก้ปัญหาการรีไซเคิลและความยั่งยืน การนำเทคนิคต่าง ๆ ที่ร่วมสมัยมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียยังคงครองสัดส่วนการผลิตพลาสติกและยางมากที่สุดในโลกมากกว่า 50% ซึ่งในภูมิภาคนี้ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญ และจากมาตรการเศรษฐกิจ BCG ยิ่งทำให้หลายประเทศจับตามองไทยในฐานะของการเป็นแหล่งผลิต การทำตลาด การทำนวัตรรมใหม่ ๆ รวมถึงการขยายตลาดไปสู่ประเทศใกล้เคียง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศชั้นนำของโลกที่เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ในปีนี้ประเทศไทยจะสร้างความเชื่อมั่นและสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อธุรกิจกับสองอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะการเน้นความยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป้าหมายการรีไซเคิลแบบ 100%
“เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ในฐานะพันธมิตรด้านการจัดนิทรรศการของไทย ได้จัดมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 เพื่อโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางไทย และชูบทบาทของผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ผลิตสินค้าที่รีไซเคิลได้ 100% กระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการจัดการสิ่งเหลือทิ้งทางอุตสาหกรรมให้เป็นสิ่งใหม่ให้กับผู้ประกอบการทั่วโลก โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมล้ำสมัยที่มานำเสนอในงาน เช่น เครื่องบดย่อยพลาสติกเหลือใช้ความเร็วต่ำแบบประหยัดพลังงานจากบริษัท เซอร์ม่า (ประเทศไทย) โซลูชันการแปรรูปพลาสติกจากพืชที่ย่อยสลายได้โดยมิตรผล อีกทั้งยังได้ดึงกลุ่มธุรกิจกว่า 250 แห่ง จาก 20 ประเทศชั้นนำ เช่น ออสเตรีย จีน เยอรมนี อินเดีย อิตาลี สิงคโปร์ ให้เห็นโอกาสจากการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านพลาสติกและยางที่สำคัญของภูมิภาค เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ และสนใจที่จะนำสินค้าด้านพลาสติกและยางของไทยไปใช้ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะดีมานด์พลาสติกชีวภาพของประเทศไทยที่ส่งออกสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 90% ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ ยานยนต์ การก่อสร้าง และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่างานแสดงสินค้าดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566 ไม่ต่ำกว่า 6000 ราย”
นายเกอร์นอท กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเป้าหมายกระตุ้นไทยให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการรีไซเคิลและอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว ยังเดินหน้าใช้ไทยเป็นตัวกลางกับประเทศต่าง ๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย “การสร้างแบรนด์ยั่งยืน” ทั่วทั้งภูมิภาคตามแนวทาง ESG ผ่านการเปิดโอกาสให้ผู้นำธุรกิจ ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายอย่างภาครัฐ และภาคส่วนอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยได้นำเสนอแนวคิดและการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ซึ่งจากการจัดงานนี้พบว่าธุรกิจชั้นนำในอาเซียนให้ความตื่นตัวอย่างมากกับ ESG และ BCG เนื่องจากเป็นหลักการที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ในระยะยาว พร้อมทั้งให้ความเห็นตรงกันว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูล หรือแบ่งปันเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นเพื่อจับมือกันไปสู่โร้ดแมพการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในอาเซียนถือว่ามีความสามารถในการปรับตัว และปฏิบัติตามแนวทางของนานาชาติได้อย่างรวดเร็วจากความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และองค์วามรู้ ส่วนขนาดที่รองลงมาอย่าง SMEs ยังจำเป็นต้องได้รับการแบ่งปันแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งจากหลังจากการจัดงานดังกล่าวเชื่อว่า ธุรกิจพลาสติกและยางที่ได้วางแนวทางด้าน ESG ไว้ จะมีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
“สำหรับเป้าหมายการสร้างแบรนด์ยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางในอาเซียน ได้กำหนดวาระการให้ข้อมูลที่สำคัญ 3 เรื่องคือ ความท้าทายของเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: Circular Economy and Sustainable Challenges for Southeast Asian Markets การแก้ปัญหาการรีไซเคิลและความยั่งยืน: Cycling Solutions & Sustainability Forum และ การนำเสนอเทคนิคต่างๆ ที่ร่วมสมัย: Technical Presentations & Concurrent Events โดยให้ข้อมูลที่สำคัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน”
นายเกอร์นอท กล่าวทิ้งท้ายว่า T-PLAS 2023 เป็นการกลับมาจัดงานอีกครั้งในรอบ 4 ปี ซึ่งนอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแนวคิดการจัดงานแล้ว เป้าหมายของการกรลับมาในครั้งนี้คือการทำให้ไทย – อาเซียนได้มุมมองจากนานาชาติที่ชัดเจนขึ้นในด้านการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกและยาง โดยเฉพาะพลาสติกที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลทั้งกระบวนการ การลดปล่อยคาร์บอน ส่วนสินค้ายางคือการมุ่งปรับโฉมใหม่เป็นสินค้านวัตกรรม จากเดิมที่เป็นการแปรรูปหรือเป็นเพียงสินค้าขั้นกลาง สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ของไทยและโลกที่มีความล้ำและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
T-PLAS 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก สามารถติดตามการจัดงานงาน T-PLAS 2023 ได้ที่ https://www.tplas.com/