วช. เสริมทัพงานวิจัย มทส. พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ ส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการขยะอย่างยั่งยืน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักถึงปัญหาขยะกองโตบนพื้นที่เกาะท่องเที่ยว เร่งช่วยผลักดันผลงานวิจัยการเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยค้นพบเทคโนโลยี Mechanical and Biological Treatment (MBT) ที่สามารถลดปริมาณขยะให้ลดลงและยังเกิดผลพลอยได้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะและปุ๋ยอินทรีย์ เผยช่วยกันเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และภาครัฐต่อการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วยกัน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาขยะที่เกิดตามแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะต่าง ๆ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ และสิ่งแวดล้อมของการเป็นต้นตอก่อให้เกิดการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศน์กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมไปถึงผลกระทบเรื่องมลพิษทางอากาศ จากการเผาทำลายเพื่อขจัดขยะให้หมดสิ้นไป วช. จึงเห็นคุณค่าต่อผลงานวิจัยของ ดร.พรรษา ลิบลับ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในเรื่อง "การเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" อย่างมาก
ดร.พรรษา ลิบลับ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึง เรื่องนี้ว่า ขยะมูลฝอยที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วตามแหล่งท่องเที่ยวบนพื้นที่บนเกาะ มาจากจำนวนนักท่องเที่ยว โรงแรม และรีสอร์ท หรือ ร้านอาหารบนเกาะ โดยขยะมูลฝอยบนพื้นที่เกาะส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ได้แก่ เศษอาหาร แต่ก็มีขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงขยะรีไซเคิล ขยะอันตรายตกค้างเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และในอนาคตปริมาณขยะก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แต่ละพื้นที่บนเกาะพบว่ายังคงประสบปัญหาในด้านการจัดการขยะมูลฝอย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการคัดแยกและการเก็บรวบรวม อาทิ จำนวนภาชนะรองรับขยะมูลฝอยมีไม่เพียงพอ การทิ้งขยะไม่ถูกสถานที่ และทิ้งขยะปนกันจนไม่สามารถแยกขยะไปใช้ประโยชน์ได้ ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในการส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอย
อีกทั้งปัญหาด้านการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกสุขาภิบาล โดยกำจัดด้วยวิธีการเทกองบนพื้นที่ริมถนน แล้วทำการเผากลางแจ้งเป็นครั้งคราว ในส่วนของพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอย มีไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จากสาเหตุข้างต้นจึงเกิดวิกฤติปัญหาขยะรุนแรงเนื่องจากองค์กรปกครองท้องถิ่น ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างครบวงจรที่เหมาะสมกับชุมชน และขาดแรงจูงใจให้เกิดการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ หากพิจารณานำขยะมาผลิตเป็นพลังงานเสริมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากจะได้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการกำจัดขยะที่ได้ผลอย่างยิ่ง และเป็นวิธีที่จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
สำหรับงานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษารูปแบบทางเลือกและความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมบนพื้นที่เกาะ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง และเป็นพื้นฐานในการจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวได้ เนื่องจากขยะชุมชนของประเทศไทยมีจุดเด่น คือ มีองค์ประกอบที่เผาไหม้ได้สูงถึง 94.43% ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างมีศักยภาพ
ที่ผ่านมา จากผลการดำเนินงานที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ศึกษา รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิที่เคยมีการศึกษาเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะชุมชนในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวของประเทศไทย พบว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เกาะนั้น คือ เทคโนโลยี Mechanical and Biological Treatment (MBT) เป็นเทคโนโลยีการผลิตขยะเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะให้ลดลงแล้วยังเกิดผลพลอยได้เป็นเชื้อเพลิงขยะและปุ๋ยอินทรีย์ โดยทางมหาวิทยาลัย ฯ ได้จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ท่องเที่ยวต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงการออกแบบระบบการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และปุ๋ยอินทรีย์ ระบบ SUT-MBT จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยามจังหวัดระนอง 2. องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด 3. เทศบาลตำบลคุระบุรี จังหวัดพังงา 4. เทศบาลตำบลเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และ 5. เทศบาลตำบลพรุใน จังหวัดพังงา โดยมีเนื้อหาดังนี้ 1. การศึกษาและวิเคราะห์ทางเลือกเทคโนโลยี 2. กำหนดรูปแบบเทคโนโลยีการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3. ออกแบบระดับกรอบแนวคิด (Conceptual Design) 4. ออกแบบรายละเอียด (Detail Design) เพื่อก่อสร้างระบบ 5. ประเมินด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน 6. ประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้ผ่านข้อเสนอแนะคือ จำเป็นต้องมีการจัดกลุ่มพื้นที่การบริหารจัดการขยะให้เหมาะสม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะทั้งประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น สร้างแรงจูงใจในการผลิต และใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับการบริหารจัดการขยะเชื้อเพลิง (RDF) เสนอแนะให้คงระบบบริหารจัดการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ควรให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในด้านของอำนาจการตัดสินใจ ขณะเดียวกันควรให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมตัดสินด้วย
ขณะที่ในเรื่องข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรอบวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตพลังงานจากขยะ ครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การผลิตพลังงานจากขยะ ขยะอุตสาหกรรม (การผลิตไฟฟ้า ความร้อน และใช้เป็นพลังงานชีวภาพ) โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้าน waste to energy ประกอบกับเกิดการผลักดันให้ท้องถิ่นนำผลออกแบบระบบการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และปุ๋ยอินทรีย์ (ระบบ SUT-MBT) ไปพัฒนาและบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำนโยบายและแผนช่วยขับเคลื่อนการจัดการขยะในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้เกิดเป็นโครงการนำร่องได้ เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และยุทธศาสตร์ของจังหวัดต่อไป