เมื่อ : 29 เม.ย. 2566 , 258 Views
อว. นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับนานาชาติ  จากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva”  ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมพิธีมอบรางวัลการประกวดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” และมอบรางวัล Special Prizes on Stage แก่หน่วยงานด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรรมจากนานาชาติ พร้อมแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมในครั้งนี้

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยจาก 37 หน่วยงาน คว้ารางวัลระดับนานาชาติจากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

 

เป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของงาน On Stage คือ รางวัล Industrial Design Prize จากผลงานเรื่อง “นวัตกรรมแผงกันแดดปรับได้อัตโนมัติแบบประหยัดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พฤฒิพร ลพเกิด และรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลจาก Pour la Suisse Romande de I’Association สวิตเซอร์แลนด์

 

นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและนวัตกรรมอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on Stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้ 
1. ผลงานเรื่อง “AragoShine: เกล็ดแคลเซียมคาร์บอเนตชีวภาพที่เป็นประกายแวววาว” โดย ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลจาก Delegation of Saudi Arabia ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
2. ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมเซลล์โฟโตอิเล็กโตรคะตะไลติกร่วมกับโซลาร์เซลล์ สำหรับการบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตน้ำสะอาด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย พลเชี่ยว แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลจาก Office des Brevets de Pologne สาธารณรัฐโปแลนด์ 
3. ผลงานเรื่อง “การคัดกรองมะเร็งเต้านมทางไกลโดยใช้ระบบบริหารจัดการภาพ    อัลตราซาวด์สามมิติอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์” โดย ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล แห่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับรางวัลจาก Delegation of Hong Kong เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

พร้อมนี้ ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยยังคว้าเหรียญรางวัลจากเวที Geneva ในประเภทต่างๆ ดังนี้
1.    Gold Medal with the Congratulations of the Jury 3 ผลงาน
2.    Gold Medal  27 ผลงาน
3.    Silver Medal  42 ผลงาน
4.    Bronze Medal 52 ผลงาน


พร้อมด้วย Special Prizes จากประเทศต่างๆ อาทิ โปรตุเกส เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยผลงานที่ได้รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ได้แก่
1. ผลงานเรื่อง “เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด” โดย ศาสตราจารย์ ดร. เกศรา ณ บางช้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
2. ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด” โดย ดร. กิตติคุณ ทองพูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
3. ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีต้นทุนต่ำสำหรับการตรวจคัดกรองภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดด้วยปัญญาประดิษฐ์” โดย ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและกล่าวว่า ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้งการส่งเสริมและต่อยอดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

สำหรับงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 เป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์/นักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 1000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10000 คน โดยผลงานจากประเทศไทยที่นำเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ วช. ได้พิจารณาคัดกรองในหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานจากวช. ได้รับรางวัลและนำเสนอในเวทีระดับประเทศ อาทิ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลระดับประเทศของหน่วยงาน ผลงานที่มีการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น