เมื่อ : 10 พ.ค. 2565 , 763 Views
คนรักสัตว์เลี้ยงแก้มปริ! เอ็นไอเอ พารีวิว 2 นวัตกรรม “เพื่อนซี้สี่ขา”  “นวัตกรรมบำบัดซึมเศร้าด้วยน้องหมา” และ “นวัตกรรมทรายแมวทรายจากพืชสุดล้ำ”

กลุ่มธุรกิจสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงยังเป็นที่น่าจับตา และทวีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบรรดาทาสแมวหรือคนรักน้องหมาต่างพากันทุ่มเม็ดเงินเพื่อสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเพื่อนรักสี่ขา ชนิดที่ว่าบางชิ้นแพงยิ่งกว่าของใช้ของตัวเองเสียอีก เทรนด์ความนิยมดังกล่าวยังทำให้เกิดธุรกิจแปลกใหม่ที่สร้างเม็ดเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำทั้งสปาเพื่อสัตว์เลี้ยง ประกันภัย บริการที่พัก ฯลฯ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา โดย Fortune Business Insights ประเมินว่าตลาดธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะเติบโตปีละ 5.6% จนมีมูลค่าถึง 325.74 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 เลยทีเดียว

นอกจากความความน่ารักของบรรดาเพื่อนรักสี่ขาจะช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้เจ้าของแล้ว ยังแฝงด้วยโอกาสในการสร้างสรรค์และต่อยอดทางธุรกิจนวัตกรรม โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จะพาไปเปิดมิติใหม่ของนวัตกรรมที่เข้ามาดิสรัปต์วงการสัตว์เลี้ยงอย่าง “สุนัขบำบัดทลายกำแพงหัวใจผู้ป่วย: Therapy Dog Thailand” และทรายแมวจากมันสำปะหลัง ซึ่งทั้ง 2 นวัตกรรมนี้มาช่วยเปิดมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง

Therapy Dog Thailand เพื่อนสี่ขาผู้ทลายกำแพงผู้ป่วยซึมเศร้า - เพื่อนใหม่ผู้สูงวัย
นางสาวศิริวรรณ โอสถารยกุล ประธานบริษัท ออลไฟน์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และเจ้าของโครงการ Therapy Dog Thailand เล่าว่า ต้นกำเนิดของโครงการมาจากคุณย่า ซึ่งเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดและอารมณ์ของท่านไม่คงที่ จึงทำให้การบำบัดทุกครั้ง นักบำบัดต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อให้คุณย่ายอมรับการรักษา แต่ผลที่ได้รับคือ คุณย่ามีกำแพงปิดกั้นการรักษาทุกครั้ง และไม่ยอมกินยาตามที่หมอสั่ง อีกทั้งยังพบว่าหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 6 เดือน อาการของท่านจะยิ่งย่ำแย่ และภาวะจิตใจจะเปราะบางลง เลยทำให้ต้องคิดวิธีรักษาใหม่ๆ ด้วยการใช้ความรักจากสุนัขมาช่วยบำบัด

“โครงการนี้เกิดจากความเชื่อในพลังบำบัดของสุนัข และความต้องการที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของสุนัขและสุนัข ส่งต่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ช่วงแรกเราดำเนินโครงการด้วยความเชื่อ และค่อยๆ ศึกษาในเรื่องการบำบัดด้วยสุนัขเป็นเวลากว่า 10 ปี พบว่าการฝึกสุนัขให้เป็นนักบำบัดนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ จนมาเจอกับหลักสูตรขององค์กรต่างประเทศอย่าง Therapy Dog Association Switzerland VTHS ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการใช้ทีมสุนัขนักบำบัดมารักษาผู้ป่วย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เติบโตขึ้นมาได้ โดยเรานำหลักสูตรของเขามาปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย

สำหรับการฝึก จะฝึกทั้งเจ้าของสุนัขและสุนัขทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเจ้าของสุนัขและสุนัขจะต้องผูกพันกันอย่างน้อย 1 ปี โดยใช้เวลาประมาณ 30 ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยในเรื่องบุคลิกลักษณะของผู้สูงวัย ความชื่นชอบของผู้ป่วย ไปจนถึงการรับอารมณ์ที่ไม่คงที่ของผู้ป่วยซึ่งรวมถึงเด็กพิเศษด้วย อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า สุนัขมีธรรมชาติของความเป็นนักบำบัดอยู่ในตัว มีทั้งความอบอุ่นและความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเปรียบเหมือนพลังในการเปิดประตูใจให้ผู้ป่วยยอมรับการรักษา” คุณศิริวรรณ กล่าว

 

เมื่อความรักและความน่ารักของสุนัขละลายกำแพงใจของผู้ป่วย
สำหรับวิวัฒนาการของผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนการการบำบัดด้วยทีมสุนัขนักบำบัด คุณศิริวรรณ ยกเคสหนึ่งของผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ผ่านการบำบัดด้วยทีมสุนัขนักบำบัด โดยกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ชอบฟุตบอล เราเลยให้ผู้ป่วยรายนี้ถือลูกบอลและสั่งให้ปล่อย แต่ผู้ป่วยก็ดื้อรั้นต่อคำสั่ง จนเราต้องนำน้องซันเดย์ สุนัขนักบำบัด ซึ่งมีความน่ารักและตัวใหญ่ของเซเลบเมืองไทย คุณมาริสา แอนนิต้า มาช่วยบำบัด และด้วยความน่ารักของสุนัขผนวกกับความสวยของคุณมาริสา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุข และให้ความร่วมมือในการรักษา อีกทั้ง ยังทำให้ผู้สูงวัยรายนี้สามารถเตะบอลกับสุนัขได้

คุณศิริวรรณ กล่าวว่า NIA ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมในด้านเทคโนโลยี และการเปิดแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้เราต้องพัฒนาแพลตฟอร์มแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งเรื่อง educational features ที่ผู้เข้าอบรมสามารถเรียนแบบวิดีโอ หรือไลฟ์สดได้ รวมถึง E-Commerce Platform ที่เข้ามาช่วยในเรื่องการชำระค่าอบรมและแก้ปัญหาการจัดตารางอบรม โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมหลักสูตรและสร้างทีมสุนัขนักบำบัดในปัจจุบันของเรา คือ นักเรียนแพทย์และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัด เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ที่รู้จักวิธีการบำบัด และสามารถเลือกใช้เครื่องมือบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากวิธีการบำบัดโดยใช้สนัขแล้ว ยังมีวิธีการบำบัดอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยเสียงและคนเล่นเครื่องดนตรี ส่วนแผนธุรกิจในอนาคต ทีมงานยังคงเดินหน้าพัฒนาเรื่องการบำบัด และมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการเปิดรับหน่วยงานเอกชน และสร้างแคมเปญต่าง ๆ ให้หลายภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมสัตว์เลี้ยง และสร้างกองทัพสุนัขนักบำบัดให้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

 
   

อภินันท์ มหาศักดิ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด

ทรายแมวฯ โดยทาสแมว คัดสรรทุกอย่างด้วยใจ ส่งความห่วงใยให้โลกจากมันสำปะหลัง
จากพื้นฐานที่เป็นคนชอบเลี้ยงแมว และต้องการที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจ เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้มองว่าอาชีพนักบินไม่มีความมั่นคงเพียงพอ อภินันท์ มหาศักดิ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด จึงเริ่มหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์เทรนด์การเลี้ยงสัตว์แบบ Pet Humanization ซึ่งจากการหาข้อมูลทำให้พบว่าประเทศไทยใช้ทรายแมวนำเข้ามาจากต่างประเทศเกือบ 100% สวนทางกับความต้องการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่คาดหวังอยากให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทรายแมวไปต่างประเทศ
เมื่อมองเห็นช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจ อภินันท์จึงไม่รอช้าที่จะเดินหน้าชวนเพื่อนที่เคยศึกษาปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาด้วยกัน ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านเส้นใยพืชจากประเทศออสเตรเลีย และเป็นทาสแมวไม่ต่างกัน มาร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมทรายแมวที่ผลิตจากพืช เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมกัน

หากย้อนดูข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมทรายแมวในประเทศไทย จะพบว่ามีหลายองค์กรพยายามคิดค้นและผลิตทรายแมวจากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ถ่าน ไม้ รวมถึงผักตบชวา แต่สุดท้ายไม่มีผู้ประกอบการและองค์กรไหนผลิตทรายแมวออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง เหตุเพราะกระบวนการผลิตที่เยอะขั้นตอนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงลิ่ว จนไม่สามารถที่จะทำราคาขายสู้ตลาดต่างประเทศได้

ดังนั้น กว่าทรายแมวมันสำปะหลังแบรนด์ไฮด์แอนด์ชีคจะประสบความสำเร็จมียอดขายหลักล้านได้ในปัจจุบัน ต้องผ่านการทดสอบ ลองผิดลองถูกนานถึง 2 ปี ถึงพบคำตอบว่า มันสำปะหลัง” พืชทางการเกษตรที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกแต่มีราคาตกต่ำนั้นมีคุณสมบัติเหมาะกับการผลิตเป็นทรายแมว เพราะเป็นพืชที่มีเส้นใยกับแป้งในตัว ขาดแต่สารให้ความเหนียวเท่านั้น ถ้าหากนำนวัตกรรมมาทำให้แป้งเปลี่ยนโมเลกุลเป็นสารให้ความเหนียวได้ กระบวนการผลิตก็จะลดทอนลง ต้นทุนการผลิตก็จะลดลงเช่นกัน

มันสำปะหลังเมื่อผ่านกระบวนการปรับโมเลกุลของแป้งเปลี่ยนเป็นสารให้ความเหนียว เมื่อเราลดกระบวนการผลิตได้ ก็สามารถทำให้มันสำปะหลังเป็นทรายแมวได้จริง ในราคาที่จับต้องได้ เมื่อต้นทุนลดลงก็สามารถขายสู้ต่างประเทศได้ ถ้าเราไม่เลือกเอาโปรดักส์ที่เป็นของเหลือและไม่มีต้นทุนมาใช้ ธุรกิจของเราจะไม่สามารถเกิดได้เลย ผู้ประกอบการต้องกล้าที่จะแตกต่าง เอานวัตกรรมมาสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ถ้าเราทำได้ก่อนโอกาสในตลาดย่อมมีมากกว่า

 

ทรายแมวจากมันสำปะหลัง ดีต่อสุขภาพน้องเหมียว ไม่สร้างภาระสิ่งแวดล้อม
ทรายแมวที่ผลิตจากมันสำปะหลัง มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าทรายแมวทั่วไปที่ขายตามท้องตลาดตรงที่มีความปลอดภัยสูง หากน้องแมวเผลอกินเข้าไปก็ไม่เป็นอันตราย ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของแมวและผู้เลี้ยงในระยะยาว เพราะทำจากมันสำปะหลัง 100% อีกทั้งยังเก็บกลิ่นปัสสาวะ ดูดซับแอมโมเนียได้มากกว่าทรายแมวทั่วไปถึง 5 เท่า จึงเหมาะกับผู้เลี้ยงที่นิยมความสะดวกสบาย อาศัยอยู่คอนโด หรือพื้นที่ปิด เพราะทรายแมวจากมันสำปะหลังสามารถทิ้งลงชักโครกให้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงไม่เป็นภาระต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีขยะที่เกิดจากทรายแมวที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 50 ตันต่อปี

ธุรกิจจะเติบโต ผู้ประกอบการต้องเข้าใจเทรนด์
ในฐานะรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ลงสนามสู้ศึกธุรกิจด้านนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยง เชื่อว่าจากนี้ไปตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นในทุกปี หากผู้ประกอบการอยากหันมาลองจับอุตสาหกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยง ต้องศึกษาให้เข้าใจความต้องการและแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง ถึงจะสามารถพัฒนาสินค้าออกมาได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้

ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาตลาดนี้ อยากให้เข้าใจก่อนว่าสัตว์เลี้ยงต้องการอะไร เทรนด์ลูกค้าต้องการสินค้าแบบ ผู้ประกอบการบางรายนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจึงไม่เกิดความแตกต่างจากในตลาด สุดท้ายแบรนด์เหล่านั้นก็ล้มหายไปเป็นวัฏจักรที่เกิดบ่อยมากในวงการธุรกิจสัตว์เลี้ยงบ้านเรา แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีและไอเดียมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ของตัวเองได้ ผลิตภัณฑ์ของเราจะมีมูลค่าทั้งทางด้านสิทธิบัตรและแบรนด์ เราจะได้เปรียบในตลาด และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทางด้านนวัตกรรม อย่างเช่นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ได้ง่ายขึ้น

แม้วันนี้ยอดขายทรายแมวจากมันสำปะหลัง จะเติบโตขึ้นจนมีรายได้ภายในประเทศเฉลี่ยอยู่หลักล้านต่อเดือน แต่คุณอภินันท์ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาคุณภาพของทรายแมวให้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองวิจัยนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ เช่น กากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นทรายแมว หากสำเร็จประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์ในภาพรวม เราในฐานะผู้ประกอบการจะมีความชำนาญด้านของทรายแมวมากขึ้น อีกทั้งยังลดคู่แข่งทางการตลาดอีกด้วย เรียกว่าเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ และค่อนข้างสดใสสำหรับประเทศไทยมากเลยทีเดียว ผู้ประกอบการคนไหนที่อยากเข้าสู่ตลาดนี้อย่าลืมตัวช่วยดี ๆ อย่าง “นวัตกรรม” รับรองว่าแตกต่างและมีแต้มต่อแน่นอน
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ