เมื่อ : 08 มี.ค. 2565 , 459 Views
เปิดใจ 2 หญิงแกร่ง แห่งวงการ ‘วิศวกรรม’ ความภูมิใจของ วิศวะ มธ. (TSE)  ผู้จุดประกายการให้โอกาสและส่งเสริมความเท่าเทียมสู่คนรุ่นใหม่
จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม เกิดจากการปล่อยให้ทุกคนได้มีอิสระทางความคิดการสร้างพื้นที่ให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หรือแม้แต่คนอื่น ๆ ได้เลือกได้ออกมาแสดงศักยภาพที่มีอยู่ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องเพศสภาพ อาชีพ ศาสนา และแน่นอนว่าอีกหนึ่งอาชีพที่เรามักจะเห็นว่ามีผู้หญิงเข้าไปโลดแล่นไม่น้อยไปกว่าผู้ชายคือ “อาชีพวิศวกร” วันนี้จะพาไปพูดคุยกับ 2 หญิงแกร่ง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(Thammasat  School of Engineering) หรือ TSE นั่นคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล  อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ สุชาตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมอุตสาหการ ผู้ที่ผ่านทุกคำครหา ผ่านการแบ่งแยกจากเพศสภาพมาแล้ว และวันนี้ทั้ง 2 ท่านกำลังมุ่งมั่นที่จะพัฒนา TSE ให้เป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่ที่สร้างความเท่าเทียมในทุก ๆ ด้านให้นักศึกษาทุกคน 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ TSE รวมถึงรายละเอียดการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ทุกรอบทุกหลักสูตร สามารถติดตามได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

 
► วิศวกรหญิงสุดแกร่ง ที่ไม่ได้แกร่งแค่ใจ แต่ความคิดก็แกร่งไม่แพ้กัน

รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล  อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เล่าว่า สมัยก่อนงานวิศวกรรม หรือแม้แต่คณะวิศวกรรมถูกมองว่ามีความเหมาะสมกับผู้ชายมากกว่า เพราะโดยธรรมชาติแล้วการเรียนวิศวกรรมต้องใช้หลักการคำนวณ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ซึ่งผู้ชายจะมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มากกว่าผู้หญิง  แต่ปัจจุบันการเรียนวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาขาวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น มีสาขาใหม่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพด้านซอฟท์สกิล (Soft Skill) ให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นจุดเด่นของนักศึกษาหญิง จึงทำให้ภาพบรรยากาศการเรียนในคณะวิศวกรรมขณะนี้มีเด็ก ๆ ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ชาย

โดยเฉพาะ TSE ที่มีผู้หญิงประมาณ 35 % ของคณะฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เปิดกว้างและมองเห็นศักยภาพของผู้หญิง ขณะเดียวกัน ถ้ามองสถานการณ์จากหลายประเทศทั่วโลก จะพบว่ามีวิศวกรที่เป็นผู้หญิงอยู่ประมาณ 20 %  ดังนั้น ตนจึงมองว่าการปรับปรุงหลักสูตรของ TSE โดยเฉพาะการเพิ่มซอฟท์สกิล (Soft Skill) เข้าไปเพื่อประยุกต์ใช้งานด้านวิศวกรรม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีทางเลือก และได้ลองทำในอะไรนอกกรอบมากยิ่งขึ้น และจุดประกายให้ผู้หญิงสนใจงานด้านวิศวกรรมมากขึ้นด้วย

หากให้เปรียบเทียบการทำงานด้านวิศวกรรมในสมัยก่อนกับสมัยนี้ มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะในวงการวิศวกรมักจะมองว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานหนัก งานสกปรก คลุกฝุ่นได้เท่าผู้ชาย ผู้หญิงไม่สามารถคุมไซต์งานได้ดีพอ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยมีการเปิดกว้าง และยอมรับวิศวกรหญิงมากยิ่งขึ้น  เพราะเชื่อว่าผู้หญิงสามารถทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว มีความอ่อนหวานในตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่นใจเอง ที่ทำสำคัญผู้หญิงสมัยนี้มีศักยภาพมากพอ ดังนั้นการดึงเอาศักยภาพตัวเองออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด จะทำให้สังคมยอมรับ และเชื่อมั่นในตัวเรา”
 

 
สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้หญิงทุกคนสามารถดึงเอาความชอบส่วนตัวออกมาสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ดึงเอาความมั่นใจในของตัวเองออกมาขับเคลื่อนงานที่เราชอบ หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้มีความโดดเด่น เพราะตนเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงในยุคนี้โดดเด่นคือความแตกต่าง และนำความแตกต่างนั้นมาประยุกต์ใช้กับงาน  โดยเฉพาะความสามารถในการติดต่อ ประสานงาน ความละเอียดอ่อน ความรอบคอบ  ความอ่อนหวาน หัวใจที่แข็งแกร่ง นี่คือจุดแข็งของเรา ซึ่งที่ผ่านมา TSE พบว่านักศึกษาหญิงทำงานผิดน้อยมาก การออกแบบก็มีความแตกต่าง ซึ่งผู้ชายยังขาดไป และตนเชื่อว่าผู้หญิงจะเข้ามาเสริมทำให้วิศวกรรมมีสีสันยิ่งขึ้น

 “สำหรับการสร้างโอกาสให้เด็กผู้หญิงรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญคือ อยากให้ผู้ปกครองมองเห็นความตั้งใจ และเข้าใจสิ่งที่ลูกอยากทำ ผลักดันให้พวกเข้าสามารถทำในสิ่งที่อยากทำได้ โดนเฉพาะการเลือกสาขา วิชา ที่อยากเรียน ที่ผ่านมาเรียนวิศวกรรมอาจจะถูกมองว่าเป็นคณะของเด็กผู้ชายแต่หญิงเด็กผู้หญิงสามารถเรียนได้ และเรียนแล้วมีโอกาสได้งาน ทั้งบริษัทชั้นนำ ในประเทศ หรือบริษัทต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาคนมองว่าคณะวิศวกรรมเรียนยาก จบช้า คนจึงไม่ค่อยสนใจ และเด็กรุ่นใหม่สนใจการเรียนที่เรียนแล้วอยากจบเร็ว และเรียนแล้วได้เงินจำนวนมากกว่า แต่สำหรับตนมองว่าปัจจุบันโลกหรือสังคมเปิดกว้างมากขึ้นดังนั้นจึงอยากให้เด็ก ๆ หันมามองคณะวิศวกรรมศาสตร์  อย่าไปกลัวว่ามันจะยากเกินไป หากเราเข้าใจเรามีทริคเราจะสามารถเรียนมันได้ TSE เราต้องการที่ผลิตนักศึกษาทุกเพศให้มีคุณภาพ ให้เท่าเทียมกัน ดังนั้น เด็กผู้หญิงไม่ต้องกลัว เราเรียนกันอย่างสนุกสนาน เราเปิดโอกาสให้เด็กทุกเพศ ทุกวัย สำหรับเด็ก ๆ ที่กำลังสนใจอยากเรียนวิศวกรรมก็สามารถมองเป็นอีกทางเลือกได้”  รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล กล่าวเสริม

 
►  ต้นแบบวิศวกรหญิงที่อยากให้มองศักยภาพมากกว่าเสื้อผ้า หน้าผมของผู้หญิง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ สุชาตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในอดีต มีความแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งหากจะเปรียบเทียบระหว่างช่วงเรียนและช่วงที่ทำงาน มักจะมีข้อจำกัดโดยเฉพาะการให้โอกาส ผู้หญิงมักจะโดนตีกรอบ ให้ทำงานแค่ในออฟฟิศและถูกประเมินว่าไม่สามารถทำงานบางอย่างได้ ทำงานแล้วไม่ปลอดภัย ในขณะที่ผู้หญิงยังไม่ได้แสดงศักยภาพให้ได้เห็น แต่ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น ผู้หญิงที่เรียนจบวิศวกรรมหรือสาขาวิชาอื่น ๆ ทำงานตามความสามารถมากได้มากกว่าขึ้น และสามารถทำงานได้ที่ต้องใช้ความแข็งแรงได้เท่าผู้ชาย ดังนั้น ตนจึงไม่อยากให้ผู้หญิงตีกรอบให้ตัวเอง และมักบอกกับนักศึกษาของ TSE เสมอว่า ให้คว้าโอกาสที่มีอยู่ตรงหน้า และพิสูจน์ศักยภาพให้ทุกคนเห็น 

ผศ.ดร.สุภมาศ  เล่าต่อว่า อยากให้มองทะลุผ่านภาพลักษณะภายนอก ผ่านเสื้อผ้าที่ผู้หญิงสวมใส่ และอยากให้มองเรื่องศักยภาพ ความสามารถมากกว่า ผู้หญิงไม่ได้อยากเก่งกว่าใคร เพียงแต่ต้องการพิสูจน์ว่าเราสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่  และทำงานร่วมกับผู้ชายได้ หรือแม้แต่คนอื่น ๆ ในองค์กร  เช่น TSE ที่เปิดกว้างสำหรับนักศึกษาทุกเพศ  ปัจจุบัน TSE มีเด็กหญิงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณกึ่งหนึ่งของเด็กผู้ชาย โดยเฉพาะสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ อาจารย์ที่คณะทุกคนอยากสร้างให้มหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเท่าเทียมให้กับเด็ก ๆ  แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น  คือ สังคมที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะครอบครัวจะต้องสนับสนุนในสิ่งที่ผู้หญิงอยากจะเป็น เพราะครอบครัวถือว่าเป็นการจุดประกาย ที่ทำให้เด็กผู้หญิงมองเห็นสิ่งที่พวกเข้าต้องการ รวมไปถึงแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ของ TSE ที่ประสบความสำเร็จ จนทำให้รุ่นน้องอยากเดินตามรอย สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอีกตัวช่วยที่จะเข้ามา ลบภาพจำที่มองว่าวิศวกรรมต้องมีแต่ผู้ชาย 
 


   

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนบทบาทสตรีที่มีมาอย่างต่อเนื่องในอดีต ต้องยอมรับว่ามีผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันของผู้หญิงค่อนข้างมากเช่นกัน  เพราะทำให้ผู้หญิงกล้าทะลายกำแพงทางสังคม และออกมาเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น โดยเฉพาะการทะลายกำแพงด้านการศึกษา แน่นอนว่าหากขาดโอกาสเหล่านั้น ผู้หญิงที่อยากเรียนด้านวิศวกรรมคงไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะสังคมมองว่าเป็นสาขาวิชาของผู้ชาย การขับเคลื่อนในวันนั้น ทำให้เราสามารถเลือกเรียน เลือกทำในสิ่งที่ชอบได้ ซึ่ง TSE ให้ความสำคัญและยังคงให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม

“ท้ายที่สุดไม่ว่าจะอาชีพใด เพศอะไร สิ่งสำคัญ คือ เราต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองเป็นอย่างแรก เราต้องรู้ว่าชอบอะไร อยากเป็นอะไร มันจะทำให้เรามีเป้าหมาย เมื่อเราค้นพบตัวเองมันจะทำให้เราสามารถหาทางไปถึงเป้าหมายได้ หลายครั้งที่คนมองว่าผู้หญิงอ่อนแอ แต่จริง ๆ ตนเชื่อว่าตัวตนข้างใน ผู้หญิงมีความเข็มแข็งมากพอที่จะเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองแบบไม่หยุดยั้ง และเป็นตัวเองไปเวอร์ชันที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และดีที่สุด เมื่อผิดพลาดก็กลับมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนามันอยู่เรื่อย ๆ ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม” ผศ.ดร.สุภมาศ กล่าวเสริม