เมื่อ : 21 ม.ค. 2565 , 915 Views
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียประจำปี 2565  Asian Seed Congress 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย
วันที่ 20 มกราคม 2565 - สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA= แอปซ่า)และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA=ทาสต้า)  ได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU เพื่อประกาศความร่วมมือในการเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี พ.ศ. 2565 และเพื่อเป็นการเตรียมต้อนรับภาคธุรกิจเมล็ดพันธุ์จากทั่วทุกมุมโลกที่มีฐานสมาชิกขององค์กรกว่า 500 สมาชิก ครอบคลุม 54 ประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยมี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ  สวทช.ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย 

 

ทางด้าน ดร. บุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และ คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค กล่าวกว่านับเป็นก้าวแรกสู่การเตรียมงานที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมธุรกิจเมล็ดพันธุ์นี้ถือเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 7 ในประเทศไทยซึ่งถือเป็น “บ้าน” ที่ก่อกำเนิดการประชุมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค   
 
โดยการประชุมนี้จัดขึ้นเฉพาะสมาชิกของสมาคมสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ในงานประกอบด้วยกิจกรรม การจัดงานแสดงสินค้า การเจรจาการค้าเมล็ดพันธุ์ ในรูปแบบของการตั้งโต๊ะเจรจาการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  การพบปะเพื่อรับทราบถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี กฎหมายที่เกี่ยวของกับการค้าเมล็ดพันธุ์ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก  และการประชุมสามัญประจำปีของ APSA ซึ่งจะมีการจัดงานที่ประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่  14- 18 พฤศจิกายน  2565 นี้  

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการส่งออกเมล็ดพันธุ์ระดับภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2557 กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) ได้ร่วมกันดำเนินงานภายใต้นโยบายศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub Policy) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ในระดับภูมิภาค
 
ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ผักและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดโดยรวมเป็นมูลค่า 236 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปีถัดมา แม้ประเทศไทยจะได้รับผลการทบจากปัจจัยความแห้งแล้งและผลกระทบจาก โควิด-19 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเกษตรและห่วงโซ่โดยรวมของภาคอุตสากรรมเมล็ดพันธุ์ ประเทศไทยก็ยังสามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์ได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 239 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้สามารถยืนยันได้ถึงความแข็งแกร่งและการปรับตัวที่ดีของภาคอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ต่อความท้าทายอันหลากหลายที่เกิดขึ้น