เมื่อ : 24 ส.ค. 2567 , 109 Views
โรคเหงื่อออกมือและเท้าภาวะที่เจอได้นับล้านคนในประเทศไทย

ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์
ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

 

รู้หรือไม่ว่า โรคภาวะเหงื่อออกที่มือและเท้า เป็นภาวะที่เจอได้บ่อย โดยมักจะเกิดได้ตั้งแต่เด็กหรืออาจส่งต่อทางพันธุกรรมได้  โดยตัวโรคนั้นมักพบอุบัติการณ์ตั้งแต่ 2-9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของโลก สำหรับประเทศไทยแล้วมีประชากร 67 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ.2567 กลับพบผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 3 ล้านคนเลยทีเดียว
 

 ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า  อาการของเหงื่อออกมือนั้น เป็นได้ตั้งแต่เหงื่อซึม ไม่สบายตัวจนกระทั่งไปถึงเหงื่อออกมากจนเปียก ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและในเรื่องสุขอนามัยจนกระทั่งไปถึงการทำงาน  บางรายอาจมีผิวหนังติดเชื้อร่วมด้วย


อาการเหงื่อนั้น มักไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิอากาศ  การออกกำลังกาย มักเป็นทั้ง 2 ข้าง และ มักพบบริเวณมือ เท้า หรือรักแร้ร่วมด้วยในบางราย โดยหลักการวินิจฉัยของโรคนี้ จะใช้วิธีการซักประวัติ และ ตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยนับเอาประวัติที่ผู้ป่วยเป็นอย่างน้อย 6 เดือนและเอาตามเกณฑ์อย่างน้อย 2 ข้อ
เป็นทั้ง 2 ข้างและพร้อมกัน
2) เป็นอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
3) ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน
4) อายุที่เริ่มเกิดน้อยกว่า 25 ปี
5) มีประวัติครอบครัวเป็นเหมือนกัน
6) เวลานอนเหงื่อไม่ออก


อย่างไรก็ตามโรคชนิดนี้ เราต้องแยกกับโรคที่มีสาเหตุ (secondary hyperhidrosis) ซึ่งได้แก่
        1) ต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน คนท้อง ประจำเดือนใกล้หมด
        2) ระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน reflex sympathetic dystrophy
        3) ยาซึมเศร้า เช่น fluoxetine venlafaxine doxepin เป็นต้น


การรักษาโรคนี้  มีตั้งแต่การใช้ยาทา (antiperspirants) ยาส่วนมากที่ใช้คือ aluminum chloride 20-30 เปอร์เซ็นต์ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย  ยากิน (Anticholinergic drug) ยาที่ใช้จะทำหน้าที่ยับยั้งเหงื่อออก แต่ ยาที่กินอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ท้องผูก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้  ยาฉีดที่มือ (botulinum toxin)  ส่วนมากมักคุมอาการได้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาจต่องมาทำซ้ำ การผ่าตัด ( Thoracoscopic sympathectomy) การผ่าตัดเป็นการรักษาโรคชนิดนี้ ได้ผลที่สุด ทำโดยการตัดเส้นประสาทบริเวณซี่โครงที่ 4-5 โดยผ่าทางส่องกล้อง แผลขนาด 5 มิลิเมตร ทั้ง  2 ข้าง


การรักษาที่หายขาดจากโรคนี้ได้ คือ การผ่าตัดส่องกล้องทางเดียวเท่านั้น ใช้เวลาผ่าตัดเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ซึ่งหลังผ่าตัด ผู้ป่วยพักฟื้นเพียง 1 วันก็กลับบ้านได้ โดยหลังการผ่าตัดอาการเหงื่อออกมือจะดีขึ้นทันที กลับมามั่นใจอีกครั้ง โดยปัจจุบันทางรพ.วชิรพยาบาลได้เปิดทำการรักษาโรคนี้มานานกว่า 5 ปีโดยศูนย์การผ่าตัดส่องกล้องระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับโรคภาวะเหงื่อออกที่มือและเท้านี้อีกต่อไป และสามารถเข้ามาศึกษาและปรึกษาได้ที่เว็บไซต์ https://www.palmarhyperhidrosisthailand.com หรือเพจเฟซบุ๊ก ผ่าตัดปอดโดยผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ได้ที่ Lineid:@lungsurgeryth