เปิดหน้าเจ้าของหุ้น “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ตัวจริง เผยคนนอกทั้งนั้นวุ่นวายกันเอง ส่วนบริษัทฯยังโตแกร่ง
“วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” เปิดหมดเปลือกโครงสร้างผู้ถือหุ้น เผย 3 กลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ที่พาดพิงบริษัทฯ เริ่มนิ่งหมดแล้ว ชี้ตราสารการโอนหุ้นทุกฉบับชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น สถานะโครงสร้างผู้ถือหุ้นมั่นคง ส่งผลทิศทางการบริหารงานมีเอกภาพ
นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เปิดเผยว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้น WEH ในปัจจุบันแข็งแกร่ง ต่อเนื่อง ทิศทางการบริหารงานจึงเป็นเอกภาพ กรรมการบริษัทฯ ทุกท่าน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาต่อเนื่อง ส่วนข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ที่พาดพิงบริษัทฯ ได้รับการตัดสินจากศาลหรือมีข้อสรุปทางคดีทั้งหมดแล้ว โดยตราสารการโอนหุ้น ตลอด 15 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงปัจจุบัน เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกฉบับ จากการประเมินของฝ่ายกฎหมาย ไม่พบปัจจัยใด ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นไปอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจุบัน
สำหรับหุ้น WEH ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ ในปี 2552 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สัดส่วน 59.46% เดิมถือครองโดยบริษัท REC ของกลุ่มนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เปลี่ยนมือมาเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET ในปี 2558 และเปลี่ยนมือมายัง นายเกษม ณรงค์เดช ในปี 2559 และปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค.2567) ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) สัดส่วน 37.87% นายประเดช กิตติอิสรานนท์ สัดส่วน 11.81% กลุ่มอดีตผู้บริหารของบริษัทฯ สัดส่วน 3.75% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 36 ราย รวมเป็นสัดส่วน 6.03%
ส่วนหุ้นกลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% เดิมถือครองโดยกลุ่มกิตติอิสรานนท์ มีการเปลี่ยนมือกันตามปกติ ไม่มีข้อพิพาทใดๆ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค.2567) ถือครองโดยบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด สัดส่วน 26.65% บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 7.12% บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 3.87% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 91 ราย ถือหุ้นรวมเป็นสัดส่วน 2.90%
เปิด 3 กลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ทุกเหตุการณ์นิ่งแล้ว
นายณัฏฐ์ธฤต อยู่ดี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย WEH กล่าวว่า ยอมรับว่าข้อพิพาทของบุคคลภายนอก ที่พาดพิงถึงบริษัทฯ อยู่บ่อยครั้ง เป็นข่าวใหญ่มาตลอด เพราะเป็นเรื่องของบุคคลผู้มีชื่อเสียง แต่เป็นประเด็นพาดพิงเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ 1 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และไม่เกี่ยวข้องการดำเนินการหรือมีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ
ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมาย ได้ติดตามกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทของบุคคลภายนอกที่พาดพิงบริษัทฯ ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มเหตุการณ์ และประเมินผลกระทบเป็นระยะ ขณะนี้ภาพรวมทุกกลุ่มเหตุการณ์นิ่งหมดแล้ว และไม่มีผลกระทบกับบริษัทฯ มีเพียงคำสั่งศาลให้ปฏิบัติตามในฐานะนายทะเบียนบ้างเท่านั้น โดยมีรายละเอียดกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ต่อหุ้นกลุ่มที่ 1 ดังนี้
กลุ่มเหตุการณ์ที่ 1 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก เรื่องการชำระเงินซื้อขายบริษัท REC โดยระหว่างปี 2558 - 2560 กลุ่มนายนพพรได้ขายบริษัท REC (ถือครองหุ้น WEH 59.46%) ให้กับกลุ่มนายณพ ณรงค์เดช และเปลี่ยนชื่อจาก REC เป็น KPNET แต่เกิดข้อพิพาทการชำระเงินซื้อขาย REC นำไปสู่คดีความระหว่าง 2 ฝ่าย ในฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ และไทย
ในปี 2559 ที่อยู่ระหว่างข้อพิพาทการชำระเงิน REC บริษัท KPNET ได้โอนหุ้น WEH ทั้งหมด ไปยังผู้รับโอนในชื่อนายเกษม ณรงค์เดช และจากนายเกษม มีการโอนหุ้นออกไปยังผู้รับโอนอื่นๆ อีกหลายทอดเหตุการณ์นี้ ทำให้กลุ่มนายนพพรฟ้องร้องเป็นคดีสมคบคิดต่อศาลอังกฤษ และฟ้องร้องคดีโกงเจ้าหนี้ต่อศาลไทย สถานะปัจจุบัน ทั้ง 2 คดี ได้รับการตัดสินแล้ว โดยศาลอังกฤษตัดสินให้นายนพพรได้รับชำระเงินค่าเสียหายรวมประมาณ 30000 ล้านบาท ส่วนศาลไทยตัดสินยกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ทั้ง 2 คดีดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีความเกี่ยวข้อง
กลุ่มเหตุการณ์ที่ 2 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก คดีแพ่งและคดีอาญา ที่นายเกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ในคดีแพ่ง และโจทก์ร่วมในคดีอาญา ฟ้องบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ
โดยกลุ่มเหตุการณ์นี้ เกิดช่วงปี 2561 หลังจากนายเกษม ตกเป็นจำเลยร่วมในคดีสมคบคิดในศาลอังกฤษ และคดีโกงเจ้าหนี้ในศาลไทย เพราะมีชื่อเป็นผู้รับโอนหุ้นมาจาก KPNET ต่อมาในปี 2562 นายเกษมได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง พ.1031/2562 เรียกทรัพย์คืน โดยมีหุ้น WEH เป็น 1 ในรายการตามคำขอ สถานะปัจจุบันคดีสิ้นสุด เพราะโจทก์ถอนฟ้อง
คดีแพ่งที่ยังมีผลอยู่ปัจจุบัน คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.978/2565 ที่นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องเรียกหุ้น WEH คืนจาก GML จำนวน 31 ล้านหุ้น จากทั้งหมดที่ GML ถือครอง 41 ล้านหุ้น (GML ถือครองหุ้น WEH ในสัดส่วน 37.87% )
สถานะปัจจุบันศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน และให้อายัดเงินปันผลหุ้น WEH ที่ GML ถือครองอยู่ 37.87%ทั้งหมด โดยศาลสั่งให้บริษัทฯ นำเงินปันผลทั้งหมดของ GML ไปวางไว้ที่ศาลตามคำสั่งคุ้มครองจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินปันผลส่วนนี้ไปวางไว้ที่ศาลแล้วรวมประมาณ 2700 ล้านบาท
คดีสุดท้ายของกลุ่มนี้ คือ คดีอาญา ที่อัยการและนายเกษม เป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 (หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566) โดยยื่นฟ้องในปี 2564
สถานะปัจจุบันศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่มีคำพิพากษาว่าลายเซ็นนายเกษมในเอกสาร 5 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม จึงมีคำสั่งให้ริบเอกสารทั้ง 5 รายการ โดยมีเอกสารรายการเดียวเท่านั้น ที่กล่าวถึงบริษัทฯ คือ สัญญาซื้อขายหุ้น WEH ระหว่างนายเกษม กับ KPNET เป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารคนละฉบับกับตราสารการโอนหุ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่างนายเกษม กับ KPNET จึงมีผลสมบูรณ์ด้วยกฎหมาย
กลุ่มเหตุการณ์ที่ 3 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ที่ KPNET อาศัยคำพิพากษาคดีอาญาปลอมแปลงเอกสาร หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566 เพื่ออ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH
สำหรับ KPNET สถานะปัจจุบันเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และในบอจ.5
แต่หลังคำตัดสินคดีอาญาปลอมเอกสาร KPNET ได้อาศัยคำพิพากษาคดีดังกล่าว อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH และไปจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น WEH เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการคัดค้านต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
สถานะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 ก.พ.2567 โดยระบุชัดเจนว่า KPNET ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น WEH เพราะคำพิพากษาคดีอาญา วินิจฉัยเฉพาะสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเป็นเอกสารคนละชนิดกับตราสารการโอนหุ้น เป็นนิติกรรมคนละประเภท การอ้างว่าสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะ ทำให้ตราสารการโอนเป็นโมฆะและเสียเปล่า จึงไม่อาจรับฟังได้
นายณัฏฐ์ธฤต กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับหุ้น WEH กลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% ที่ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ถือครองในสัดส่วน 7.12% ได้มาจากการซื้อขายชำระเงินโดยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) จากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใดๆ การทำธุรกรรมสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จึงไม่มีความหนักใจใดๆ ในคดีที่ NUSA ยื่นต่อศาลขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมด เพราะ NUSA ไปอ้างคำตัดสินคดีอาญา(คดีปลอมเอกสาร) ของหุ้นกลุ่มที่ 1 ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานทั้งหมดมีความชัดเจนในตัวเอง พร้อมนำเสนอต่อศาลอยู่แล้ว