มก.ร่วมกับ สวก. จัดประชุมระดมความเห็น 4 ภาคส่วน เตรียมพร้อมรับมือต่อการผันแปรและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงประเด็นปัญหาเรื่องน้ำและประมง ยังมีผลกระทบต่อการทำเกษตรอื่นๆ การกระจายของเชื้อโรคของพืชและแมลงที่มีผลต่อพืชเศรษฐกิจ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน ความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จึงได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการการศึกษาแนวทางการรองรับความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางด้านการเกษตร (climate variability and climate change) จาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ภาคการเกษตรกรรม (พืชไร่และพืชสวน) ภาคการประมง ภาคการปศุสัตว์ และภาคทรัพยากรน้ำ ภูมิอากาศและภัยพิบัติ
เพื่อวิเคราะห์นโยบาย มาตรการและแนวทางการปฏิบัติในการปรับตัวให้เท่าทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตประจำวันของประชากร และเพื่อเป็นเวทีกลางการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมรับมมือ และการปรับตัวต่อความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยั่งยืน
กำหนดจัดการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการการศึกษาแนวทางการรองรับความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางด้านการเกษตร ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 -16.00 น. ณ ห้องประชุมพระศิวะ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเปิดประเด็นการประชุม “แนวคิดการปรับตัวของภาคการเกษตรไทย เมื่ออยู่ในภาวะโลกเดือด” พร้อมรับฟังปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา หัวข้อ “ภาคการเกษตรรับมืออย่างไร ? เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ภาคการเกษตรกรรม (พืชไร่และพืชสวน) ภาคการประมง ภาคการปศุสัตว์ และภาคทรัพยากรน้ำ ภูมิอากาศและภัยพิบัติ ในเรื่องผลกระทบ นโยบาย มาตรการ และเครื่องมือที่เหมาะสมในการเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว และตอบโต้ความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการ การเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว โดยงานวิจัย นโยบาย และมาตรการสำหรับทุกภาคส่วน โดยมี รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ ที่ปรึกษาโครงการฯ และ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ร่วมดำเนินการโครงการ