เมื่อ : 17 ต.ค. 2566 , 184 Views
”สว.สถิตย์”  แนะจะทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นจริงได้ต้องยึดเป้าหมายอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์ออกมาขับเคลื่อน

ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 มีการเสนอรายงานการดำเนินงานของคณะยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2565 โดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภาได้ เสนอแนะยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันใน 3 ประการ คือ 


ประการแรก ต้องรักษาเป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นของการทำยุทธศาสตร์นี้ คือ 
1. ต้องให้มีการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 5
2. ต้องมีผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) เฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 2.5 
3. ลำดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันระหว่างประเทศ ว่าด้วยการพัฒนาการจัดการ หรือ IMD ต้องอยู่ในลำดับ 1-20 

 

นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า เพื่อทำให้การก้าวไปสู่ยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขันเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นจึงอยากจะเสนอเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 2 เป้าหมาย คือ ควรเพิ่มเป้าหมายงบประมาณด้านการลงทุน อย่างน้อยต้องมีงบประมาณการลงทุน ร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี และควรมีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.5 ของงบประมาณประจำปี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.1 


ประการที่ 2 นายสถิตย์เสนอว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์จะต้องดำเนินการตามแนวคิดภาคปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Pracmatism) ถ้าหากดำเนินการตามแนวคิดนี้ จะทำให้การปฏิบัติทั้งหมด ทั้งแผนแม่บท แผนงาน โครงการ ยึดโยง เหนียวแน่นอยู่กับยุทธศาสตร์ เพราะถ้าไม่ดำเนินการเช่นนี้นานไปก็จะกลายเป็นงานประจำ และลืมไปแล้วว่างานประจำแท้จริง คือ ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นการดำเนินการเราจะต้องยึดถือแนวคิดการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งในการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขันนั้นมีอยู่ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ในแต่ละประเด็นควรจะจัดลำดับความสำคัญ หรือเพิ่มน้ำหนักแตกต่างกัน เพื่อที่สนับสนุนให้การเติบโตตามเป้าหมายเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น


ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเกษตรเพิ่มมูลค่า ควรจะให้ความสำคัญและน้ำหนักกับเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรแปรรูป เพราะ 2 เรื่องนี้จะทำให้ผลิตผลทางด้านการเกษตรที่เกิดจากเกษตรอัจฉริยะดีขึ้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์การเกษตรจากการแปรรูปเพิ่มมูลค่าขึ้น ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเกษตรเพิ่มมูลค่าประสบความสำเร็จมากเพิ่มขึ้น

 

 ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเกษตรเพิ่มมูลค่า ควรจะให้ความสำคัญและน้ำหนักกับเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรแปรรูป เพราะ 2 เรื่องนี้จะทำให้ผลิตผลทางด้านการเกษตรที่เกิดจากเกษตรอัจฉริยะดีขึ้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์การเกษตรจากการแปรรูปเพิ่มมูลค่าขึ้น ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเกษตรเพิ่มมูลค่าประสบความสำเร็จมากเพิ่มขึ้น


ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต นายสถิตย์ เห็นว่า ควรให้ความสำคัญและเพิ่มน้ำหนักกับการแพทย์ครบวงจร เพราะไทยได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่าเราจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร การให้น้ำหนักในเรื่องนี้จะทำให้เจตจำนงเป็นความจริง และทำให้การเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมและบริการด้านนี้เพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นอุสหากรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมและบริการของปัจจุบันและอนาคต ก็ต้องวางรากฐานให้เข้มแข็ง สร้างความเติบโต เพิ่มมูลค่าทางรายได้ขึ้นมา


ด้านประเด็นยุทธศาสตร์การสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ควรเพิ่มน้ำหนักให้กับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมสร้างสรรค์หรือ Soft Power ซึ่งจะนำความเป็นไทยหรือวัฒนธรรมภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาทั้งในระดับประเทศ รวมถึงการส่งออกทุนทางวัฒนธรรม


ในประเด็นยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย เชื่อมโลก ควรให้ความสำคัญอย่างมากกับการเพิ่มพื้นที่เมืองและเศรษฐกิจ ในปัจจุบันประเทศไทยความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่ 15 จังหวัด เดิมกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เรียกกันว่า “เมืองไทย คือ กรุงเทพฯ” “กรุงเทพฯ คือ เมืองไทย” แต่ในปัจจุบันนี้ได้ขยายมา 15 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี เขตพิเศษภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี 15 จังหวัดนี้มีสัดส่วนความเจริญเติบโตถึงร้อยละ 70 ส่วนอีก 62 จังหวัดที่เหลือมีสัดส่วนความเจริญเติบโตเพียงร้อยละ 30 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มพื้นที่เมืองเศรษฐกิจให้กับ 62 จังหวัดดังกล่าว อย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน เพื่อให้ 62 จังหวัดนี้ได้เจริญเติบโต เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโต และเป็นการเติบโตอย่างทั่วถึงหรือ  Inclusive Growth จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง และสอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป

 

นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะขึ้นมา ให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีความรู้ในเรื่องการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันและยุคอนาคต เพื่อที่จะพลิกจากผู้ประกอบการแบบเดิมๆ มาเป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถที่จะใช้เครื่องมือในการบริหารใหม่ๆ มาทำให้การประกอบการประสบความสำเร็จ และที่สำคัญจะต้องทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือสถาบันการเงินของ รัฐซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าจะได้พยายามที่จะให้บริการอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการ SME จึงจำเป็นที่จะต้องเน้นในเรื่องของการดำเนินการการเข้าถึงแหล่งทุน 


ประการที่ 3 การดำเนินการที่จะทำให้เป้าหมายการดำเนินการประสบความสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเอายุทธศาสตร์เป็นตัวตั้งและงบประมาณมาตอบสนองต่อยุทธศาสตร์นั้น และจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์จะต้องมองไกลไปถึงยุทธศาสตร์ทั้ง 20 ปี เริ่มต้นจากการจัดทำยุทธศาสตร์รายปี ราย 5 ปี ในแต่ละช่วง และ 5 ปีถัดไป ต้องวางทั้งระยะประจำปี ระยะกลาง ระยะยาว ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในเชิงแข่งขันที่ได้ตั้งไว้


“เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อทำให้ประเทศไทย พ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” นายสถิตย์ กล่าว