เมื่อ : 15 ต.ค. 2566 , 233 Views
แกนนำ 14 ตุลาทุบโต๊ะภารกิจยังไม่จบ หนุนประชาชนสู้กับอำนาจที่ผิดเพี้ยน

ครบรอบ50 ปี 14 ตุลา “แกนนำ 14 ตุลา” ไม่วางใจรัฐประหารยึดอำนาจกันเอง หนุนสู้กับอำนาจที่ผิดเพี้ยน ต้องสร้างพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน เพื่อต่อกรกับรัฏฐาธิปัตย์ ลั่นภารกิจยังไม่จบระดมสมองหาทางออก รวมพลังแก้ทุกข์เข็ญประชาชน ที่สำคัญต้องเร่งสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 5 ในวาระครบรอบ 50ปี 14 ตุลา ในประเด็น “จังหวะก้าวการพัฒนาที่สมดุล ต่อเนื่อง มั่นคง และรอบด้าน” โดยมีบรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 อดีตนักการเมือง และอดีตผู้นำในภาคส่วนต่างๆ พร้อมประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน อาทิ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสมาชิก นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ นายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และนายไพศาล พืชมงคล นักคิดอิสระ

 

นายพีรพล ติรยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และอดีตประธานสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดสัมนาว่า 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศ และเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกันในการต่อต้านเผด็จการ และที่สำคัญคือ วีรชน14 ตุลา ได้รับพระราชทานเพลิงศพจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ท้องสนามหลวง ด้านประชาชนยังร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถาน14 ตุลา ในโอกาสครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา และเมื่อปี 2546 ได้ร่วมกับรัฐบาลทักษิณ กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมเป็นวันประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ


“มาในวันนี้ครบรอบ 50 ปี เรามีความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นการเมืองที่มีประชาธิปไตย สังคมและเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนกินดีอยู่ดียังไม่บรรลุผล ดังนั้นภารกิจต่างๆเรายังไม่จบ ควรจะต้องสานภารกิจเหล่านี้ต่อไปเพื่อให้จบในคนรุ่นเราหรือไม่ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย” นายพีรพลกล่าว


ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวอีกว่า มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลาได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา จำนวน 3 เล่ม โดยเล่มแรกเป็นการพิมพ์ซ้ำเรื่องที่อมธ.พิมพ์ไว้ก่อน เล่ม 2 เป็นเรื่อง 50 ปี 14 ตุลา ที่ผู้อยู่ในหตุการณ์ช่วยกันเขียน และเล่มล่าสุด 50 ปี 14ตุลาที่ รศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้เขียน และมอบให้ทุกท่านที่มาร่วมงาน

จากนั้น มีการอ่านแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ของมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา ความว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีนับจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทั้งความคิด การกระทำ และทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จนเกิดสภาพที่สังคมไทยพบกับทางเดินที่ตีบตัน ทางเดินที่ไม่กระจ่างชัด และไม่แน่ใจว่าเป้าหมายจะอยู่ที่ใด


ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้แสดงออกถึงพลังความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ความเสียสละต่อสังคมและประเทศชาติ โดยร่วมกันเคลื่อนขบวนมวลชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่เส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย บนถนนราชดำเนินจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า และพัฒนาเหตุการณ์ประชาธิปไตยจนถึงวันที่ 14 ตุลา 2516 ที่เกิดการปะทะระหว่างอำนาจเผด็จการทหารกับพลังของนักศึกษาและประชาชนผู้กล้าหาญ


วันนี้ครบรอบ 50 ปีแล้ว มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา ในฐานะของมวลชนส่วนหนึ่งในวันนั้น มิได้นิ่งนอนใจต่อระบอบประชาธิปไตยไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยของไทยอย่างไม่หยุดยั้งและรั้งรอ


50 ปีของสายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยได้แสดงอย่างชัดเจนแล้วว่า ภารกิจของประชาชนยังไม่สิ้นสุด และต้องมั่นคงในเส้นทางต่อๆไปจนกว่าจะบรรลุเจตนารมณ์


1. เส้นทางประชาธิปไตยจะมุ่งสู่ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย
2. เส้นทางประชาชนจะมุ่งสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อแก้ไขความทุกข์ลำเค็ญของประชาชน
3. เส้นทางประชาชาติจะสร้างความเป็นมิตรและความเป็นกลางกับประเทศทั้งปวง ภายใต้ผลประโยชน์ของชาติและความเท่าเทียมของนานาอารยประเทศ


เส้นทางที่ก้าวเดิน แม้จะอุดมด้วยขวากหนามและอุปสรรค แต่จิตวิญญาณ 14 ตุลายังคงมั่น ยั่งยืน ตลอดไป
ต่อมามีการอภิปราย เริ่มจากนายพีรพล ในหัวข้อ “เศรษฐกิจและการแก้ไขความยากจน” โดยกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะความยากจน จะมองเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ เพราะมีเงื่อนไขต่างๆด้วย ซึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นการปลดปล่อยพลังงานต่างๆ เป็นการปลดปล่อยเสรีภาพ และเศรษฐกิจด้วย เพราะก่อนหน้านี้เผด็จการหรือที่เรียกว่า 3 ทรราชย์ ถนอม ประภาส และณรงค์ คุมเศรษฐกิจของชาติ แต่หลัง 14 ตุลา ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทและเริ่มพัฒนาขึ้น แต่ยังมีกำลังไม่มากพอ ซึ่งในช่วงการมีรัฐธรรมนูญ 2517 การเลือกตั้งครั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรม คนไม่มีเงินก็สามารถมาเป็นส.ส.ได้

“ต่อมาทุนนิยมเติบโตขึ้นและก้าวเข้ามาสู่การเมือง ในรูปสนับสนุนทุนและบางครั้งก็ส่งคนเข้ามาเป็นรัฐมนนตรี และออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของนายทุน 50 ปี มานี้ เป็น 50 ปีที่เราไม่สามารถสร้างประเทศไปสู่ทิศทางที่เป็นธรรม หรือยั่งยืนได้” นายพีรพลกล่าว

 

ตอนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ “ก้าวย่างการเติบโตอย่างทั่วถึง” ว่า ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา สิ่งที่เรียกร้องกัน คือ เสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งมองกันว่าการมีรัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงการมีรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย เพราะการเมืองการปกครองจะเป็นประชาธิปไตยได้ 3 อำนาจจะต้องคานอำนาจกัน ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาและประชาชน จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดี


ดร.สถิตย์กล่าวว่า วันนี้การแก้ไขความยากจนจะต้องใช้วิธีประกาศสงคราม ซึ่งจะใช้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไม่ได้ ต้องใช้แนวความคิดเศรษฐกิจกระแสใหม่ นั่นคือ BCD คือ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ( Creative Economy)และเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) ในส่วนเศรษฐกิจชีวภาพนั้นหลักใหญ่อยู่ที่ภาคเกษตร ซึ่งมี 9 ล้านครอบครัว ประมาณ 20 ล้านคน ทั้งนี้จำเป็นต้องแปรรูปผลผลิตให้เพิ่มมูลค่า จะทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ได้ ต้องใช้เกษตรๅเทคโนโลยีหรือเกษตรอัจฉริยะเท่านั้น ในส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนในจังหวัด มีทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งมีทั้งเรื่องอาหาร ศิลปะ หัตถกรรม แฟชั่น สถาปัตยกรรม ศิลปะการต่อสู้ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจ ทั้งนี้จะต้องทำให้เป็นสมัยนิยมเข้าไปด้วย


สว.ผู้นี้กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจ BCD จะแก้ปัญหาความยากจน และช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ระดับแรกก็ให้พออยู่พอกิน ระดับต่อไปให้อยู่ดีกินดี เพื่อให้คนชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยทั้งประเทศเติบโตอย่างทั่วถึง อุดมการณ์ 14 ตุลา มีเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และไม่ติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ปัจจุบันเส้นวัดความยากจนของคนไทยอยู่ที่รายได้ 2800 บาทต่อเดือนต่อคน ถ้าได้น้อยกว่านี้ถือว่าอยู่ใต้เส้นความยากจน เวลานี้มีอยู่ 4.8 ล้านคน จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้พ้นความยากจน ซึ่งต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยใช้กลไกแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัด

 

สาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ “สุขภาพดีถ้วนหน้าและค่าใช้จ่ายสุขภาพ” ว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ6 ตุลา 2519 นักศึกษาแพทย์ และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งจุฬาฯ มหิดลและเชียงใหม่ ต่างเข้าไปทำงานในถิ่นทุรกันดาร ในชุมชนแออัด และในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล ไม่ได้ทิ้งอุดมการณ์ 14 ตุลา แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา การทำงานให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนยากจนเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงใช้วิธีจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเพราะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้นอย่างหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ก็ให้การสนับสนุน ประกอบกับองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเมื่อปี 2530 ว่าสุขภาพดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 

ดร.เมธีกล่าวอีกว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชี้ให้เห็นแล้วว่ามีโรงพยาบาลมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเข้าถึงสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งตอนนี้บ้านเรามีอสม. 1.3 ล้านคน ต้องให้อสม.ไปให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้มีความรู้เท่ากับอสม. ภายใน 1-2 ปีก็สามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนต่อเนื่อง เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณอะไร จะทำให้มีแกนนำสาธารณสุขในทุกครอบครัว ซึ่งในยุคนี้สามารถทำได้ เพราะมีเทคโนโลยีช่วย“มองว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถทำได้ จะทำให้เกิดแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ถือเป็นเกราะป้องกันโรคได้อย่างดี เพราะอสม.ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ถ้าทำสำเร็จประชาชนจะสามารถพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ผู้สูงอายุเองก็สบายใจเพราะมีคนในครอบครัวช่วยดูแล”ดร.เมธีกล่าว

 

ด้านนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต กรรมการมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวตอนหนึ่งว่า ศิลปากรผลิตนักคิดนักเขียนมากมาย อย่างเช่น 2 กุมารจากคณะโบราณคดี คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ที่ได้แต่งกลอน ความว่า “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี กูเป็นนิสิตนักศึกษา พริ้งสง่างามผงาดเพียงราชสีห์ มันสมองของสยามธานี ค่ำนี้กูจะนาบให้หนำใจ กูเป็นนิสิตนักศึกษา เจ้าขี้ข้ารู้จักกูหรือไหม หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็คไทร์ หลีกไปหลีกไปอย่ากีดทาง

นายชัยพันธ์กล่าวอีกว่า หลังช่วง 14 ตุลา เกิดการพัฒนาชุมชน โดยองค์กรพัฒนาชุมชนหรือเอ็นจีโอ ซี่งตนเองทำงานกับสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นการรวมพลังของกลุ่มต่างๆที่มีปัญหาทั้งพวกป่าไม้ สลัม และเกษตรกร หลายเรื่องแก้ได้เพราะเอ็นจีโอ แต่ตอนนี้เอ็นจีโอกลับถูกตราหน้าว่ารับเงินต่างชาติ ซึ่งในความเป็นจริงก็มีทั้งเอ็นจีโอดีและไม่ดี

 

ขณะที่นายสมพงษ์ สระกวี อดีตนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเสนอหัวข้อ “พรรคการเมือง การเมืองของประชาชน” ว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาได้ประชาธิปไตยมาแล้ว แต่ในช่วง 50 ปี 14 ตุลา ประเทศไทยต้องเผชิญกับการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกระบอกปืนและรถถังจากงบประมาณภาษีของประชาชน วันนี้ก็วนกลับมาเรียกหาประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้ง และวันนี้การเมืองไทยได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ปรากฏชื่อพลเอกนำหน้าอยู่ในคณะรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียว จึงน่าจะเป็นโอกาสใหม่ ฟ้าใหม่กำลังก้าวสู่ประชาธิปไตย แต่คนไทยหายใจโล่งหรือไม่ว่าประเทศนี้จะไม่มีรัฐประหารยึดอำนาจกันเอง จะไม่มีรถถังและกระบอกปืนที่ใช้เงินภาษีประชาชนซื้อมายึดอำนาจกันเอง


“ไม่มีใครในแผ่นดินนี้เลย ที่จะกล้ารับประกันว่าแสงทองของระบอบประชาธิปไตยได้สาดส่องแล้ว ความผิดสำคัญของพวกเราที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา คือเราขาดความเอาจริงเอาจัง ขาดความทุ่มเทอย่างสุดชีวิตจิตใจในการที่จะสร้าง ที่จะมีพรรคการเมืองของประชาชน” อดีตนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าว


นายสมพงษ์กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ว่าจะต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและพรรคการเมืองของประชาชน แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมจ่ายเงิน 100 บาทต่อปีสร้างพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน เพื่อต่อกรกับอำนาจที่ผิดเพี้ยนและผิดปกติ แต่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทยคือคำว่ารัฏฐาธิปัตย์

“สังคมไทย 50 ปีของระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่กับคำว่า รัฏฐาธิปัตย์นี้อย่างเจ็บปวดอย่างที่สุด วันนี้รัฏฐาธิปัตย์นี้กำลังพูดกันว่า มีวิธีที่จะเข้าสู่รัฏฐาธิปัตย์ คืออำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีประชาธิปไตย เมื่อเปิดโอกาสเป็นวิธีประชาธิปไตยคือต้องมีพรรคการเมือง ถ้าท่านยังไม่ยอมควักแม้แต่ร้อยบาทต่อปี เพื่อให้กับพรรคการเมือง จะบอกได้อย่างไรว่า เราพร้อมที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตย แต่เรากลับไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด”นายสมพงษ์กล่าว

อดีตนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวด้วยว่า คนยุค 14 ตุลา การสืบทอดอุดมการณ์ 14 ตุลา ประชาธิปไตยอาจมีหลายทาง อาจมีหลายบทบาท อาจมีหลายหน้าที่แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ การทุ่มเทอย่างน้อยที่สุดปีละร้อยบาทช่วยบริจาคให้กับพรรคการเมือง ที่คิดว่าเป็นความหวังของทุกคนได้ ทำการเมืองที่ไม่ใช่อยู่ เป็นไม่ใช่อยู่รอด เพราะได้เห็นแล้วพรรคการเมืองที่อยู่เป็น ปรับตัวเป็น อยู่รอด และอยู่มา 70 ปี วันนี้จะสูญพันธุ์

 

ด้านนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และคนเดือนตุลา นำเสนอหัวข้อ “บทบาทสตรีไทยในทางการเมือง” ว่านับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่บทบาทขึ้นเวทีหรือชักชวนส่วนใหญ่เป็นของผู้ชาย สำหรับผู้หญิงมีเพียงเสาวนีย์ ลิมมานนท์ กับจิระนันท์ พิตรปรีชา รวมทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาช่วงที่เข้าป่ามีผู้หญิงเข้าป่ามาก แต่บทบาทที่จะขึ้นเป็นผู้นำมีน้อยมากทั้งที่ความเป็นจริงผู้หญิงมีบทบาทสนับสนุน แต่บทบาทในการนำมองเห็นน้อย และผู้หญิงต้องต่อสู้ทุกเรื่อง เช่น ตอนที่จะรับรัฐธรรมนูญ 2540 มีการตั้งเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าไปเรียกร้องในสภาผู้แทนราษฎร สุดท้ายได้มาตรา 30 ที่บอกว่าชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่กว่าจะได้เลือดตาแทบกระเด็น เมื่อได้มาก็ต้องออกไปผลักดันให้ผู้หญิงลงสู่การเมือง ซึ่งในสภาฯ มีผู้หญิงน้อยมาก

 

เมือง และอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา กล่าวว่า เรื่องของเทคโนโลยีของสังคมไทยวันนี้ถือว่าไม่ล้าหลังกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งที่ขาดคือการศึกษา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาไทยเหมือนได้รับการปลดปล่อย เพราะอยู่ภายใต้เผด็จการมาตั้งแต่ปี 2492 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีรัฐธรรมนูญ 3 ปี เหมือนกับยาขมที่พวกมีอำนาจรัฐเก่า และพวกสืบอำนาจรัฐแบบเก่าไม่เข้าใจและไม่รับรู้ และการปลดปล่อยหลัง 14 ตุลาให้มีกฎหมายแรงงาน มีการปฏิรูปช่วยชาวนา เป็นสิ่งที่ผู้นำหรือพวกอนุรักษ์นิยมเก่ารับไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยขาดการพัฒนา การศึกษาก็เช่นเดียวกัน


“เราติดกับดักวิธีคิด และกับดักวิธีคิดไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ มันเกิด วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตอนเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์บอก ผมเรียนธรรมศาสตร์อาจารย์สอนกฎหมายให้พูดถึงแต่หน้าที่ไม่เคยสอนเรื่องสิทธิ ฉะนั้นวันนี้นักฎหมายในยุคนั้นยังติดคราบของเผด็จการ เพราะว่าวันนี้เรามีสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้ว่าหน้าที่คืออะไร เรารู้แต่หน้าที่ไม่รู้สิทธิเสรีภาพคืออะไร เมื่อพอมีสิทธิเสรีภาพมันก็เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน สังคม 6 ตุลาก็เหมือนกัน นักศึกษาผมยืนยันได้เลยว่าไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นักศึกษาเข้าป่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นอย่าไปสรุปว่านักศึกษาที่อยู่ 6 ตุลาเป็นคอมมิวนิสต์แล้วฆ่าได้” ดร.ประยูรกล่าว


ดร.ประยูรเห็นด้วยว่า ประชาธิปไตยไทยวันนี้เหมือนถูกปู้ยี่ปูยำ เหมือนถูกทำลายโดยที่ไม่เรียนรู้ทุกสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยจริงๆ บอกไปเลียนแบบตะวันตกมากเกินไปหรือเปล่า จริง ๆ ปรัชญาตะวันตกก็มีเหตุผล เพียงแต่ว่าลึกซึ้งพอหรือไม่ และอยากฝากให้ช่วยกันคิดว่า วันนี้สังคมไทยถ้าจะเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีอัตลักษณ์ตัวเอง เราเคยคิดว่าให้อภัยกันจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าให้อภัยกันจริง ๆ วันนี้มีเหตุการณ์อันเดียวเลย จะ 50 ปีแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลาไม่มีรัฐบาลไหนเยียวยาเลย


“ผมว่ารัฐบาลไทยต้องไปตั้งคำถาม เพราะคนพวกนี้รัฐบาลยุค 10 ปีที่ผ่านมา มีคนรุ่นนี้ทั้งนั้นที่เข้าป่า หรือแม้แต่รัฐบาลปัจจุบันผมฝากเป็นคำถามแล้วกันว่า 50 ปีของประชาธิปไตย จะมีจริงก็ต่อเมื่อสังคมไทยรู้จักให้อภัยและเริ่มต้นการให้อภัยโดยการเยียวยาคดี 6 ตุลา” อดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลากล่าว

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ