นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ และนักบริบาล ทุ่มเท เสียสละทำงานเพื่อชุมชน คว้ารางวัลคุณธรรมระดับประเทศ มูลนิธิเอสซีจี ร่วมส่งเสริม หนุนคนเก่ง คนดี
จากความเชื่อมั่นในคุณค่าของคน เพราะสังคมคุณภาพต้องมีทั้งคนเก่งและคนดี มูลนิธิเอสซีจีจึงมุ่งมั่นสนับสนุนส่งเสริมคนเก่งและคนดี ที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ก่อให้เกิดเป็นคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น
โดยล่าสุด มูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมแสดงความยินดีกับ “คนึงนิตย์ ชะนะโม” นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ จากโครงการต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 5 และ “ชนิษฐา พร้อมพรั่ง” นักบริบาลชุมชน ที่ได้รับรางวัลคุณธรรมอวอร์ด ประจำปี 2565 รางวัลคุณธรรมอวอร์ด ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ที่ส่งเสริมและขยายผลบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม ภายใต้ชื่อ “รางวัลคุณธรรมอวอร์ด” ประเภทสื่อ บุคคล ชุมชนและองค์กร เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคลผู้มีจิตสาธารณะ สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม มีความชัดเจน และปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบการทำความดีต่อสังคม สำหรับรางวัลคุณธรรมอวอร์ด ประจำปี 2565 ได้มีการประกาศผลและมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เป็นผู้มอบรางวัล รวมรางวัลคุณธรรมอวอร์ดประจำปี 2565 ทุกประเภท 169 รางวัล
เป็นที่น่ายินดีที่สองบุคคลต้นแบบ ที่มูลนิธิเอสซีจีได้นำเสนอชื่อเข้ารับรางวัลคุณธรรมอวอร์ดนั้น ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ ให้ได้รับรางวัลคุณธรรมอวอร์ด ประเภทบุคคล ในครั้งนี้ด้วย จากความทุ่มเทและความเสียสละ ทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
คนึงนิตย์ ชะนะโม หรือ “อุ้ม” นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ จากโครงการต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 5 โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
หลังจากที่ “อุ้ม” ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เธอได้ก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี พร้อมกับส่งเสริมให้ชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน และยังสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร พัฒนานวัตกรรมสู่สังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ก่อเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นต้นแบบของการเรียนรู้และการสร้างการมีส่วนร่วม และยังเป็นพื้นที่ให้ชุมชนอื่นๆ จากทั่วประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ ต่อยอดกันเป็นชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศต่อไป
จากการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของคนในชุมชนที่เริ่มจาก 4 ครอบครัว มาเป็น 49 ครัวเรือนในปัจจุบัน และยังมีสมาชิกจากหมู่บ้านอื่นในตำบลใกล้เคียง รวมถึงคนที่เข้ามาเรียนรู้กับศูนย์ฯ ที่เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้จากในศูนย์ฯ ต่างก็ได้นำความรู้ที่ได้รับ กลับไปขยายพื้นที่ตามธรรมชาติ ผลผลิตที่เป็นส่วนเกินจากการบริโภคและการขาย นำไปทำบุญด้วยการแบ่งปันให้กับโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงการนำไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
นอกจากนี้ “อุ้ม” ยังเป็นหนึ่งในผู้รวมกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในนาม “กลุ่มชาวนาไทอีสาน” เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบสานพันธุ์ข้าวไทยและการกินวิถีไทย รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ยกระดับข้าวไทยสู่สากล
“อุ้ม” มุ่งมั่นทำงานด้วยใจอาสา ด้วยเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่อยากเห็นบ้านเกิดของตนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ พร้อมขยายโอกาสการมีรายได้ของคนในชุมชนด้วยผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่หลากหลายเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและช่องทางการจัดจำหน่าย “อุ้ม” ได้อุทิศพื้นที่นาที่บ้านตนเอง ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องข้าว และยังได้ร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับสังคม เพื่อให้เกิดการขยายเครือข่าย ซึ่งจะทำให้การทำงานมีการต่อยอดไปกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการมีแหล่งอาหารปลอดภัย ลดการใช้ยา และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่จะทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
ชนิษฐา พร้อมพรั่ง นักบริบาลชุมชน จังหวัดขอนแก่น เป็นบุคคลต้นแบบอีกราย ที่ได้รับรางวัลคุณธรรมอวอร์ด 2565 “ชนิษฐา” เป็นอีกคนที่มีจิตสาธารณะ มีความเสียสละเพื่อผู้อื่นและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเสมอ ได้ตัดสินใจสละวิถีชีวิตคนเมืองเพื่อกลับบ้านเกิดมาดูแลมารดาที่ป่วยหนักในวาระสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเธอ หลังจากที่เห็นคนในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ คือผู้สูงอายุ จึงตั้งปณิธานที่จะอุทิศตนช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อน “ชนิษฐา” ได้รับทุนจากมูลนิธิเอสซีจี เข้ารับการอบรมเป็นนักบริบาลชุมชน โดยปัจจุบันเธอประจำการอยู่ที่หมู่บ้านกุดกระหนวน สังกัดโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หน้าที่ในแต่ละวันของเธอคือการดูแลผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ให้การดูแล ฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยติดเตียง นอกจากการเป็นนักบริบาลชุมชนแล้ว “ชนิษฐา” ยังเป็นต้นแบบการทำการเกษตรให้แก่คนในชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานผักปลอดสาร ที่นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังมีผลผลิตมาจำหน่ายในท้องถิ่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน “ชนิษฐา” ได้ใช้ความอดทน มานะ บากบั่น และเพียรพยายาม ในการผลักดันให้คนในชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจ ถึงสาเหตุของการเกิดโรค และทำให้คนในชุมชนยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต จนสามารถมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อน
“ชนิษฐา” ไม่เพียงปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นนักบริบาลอย่างแข็งขันในเวลางาน แต่นอกเวลางาน ก็ยังหมั่นแวะเวียนไปถามไถ่อาการป่วยและให้กำลังใจผู้ป่วยเสมอ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนและมักได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพด้วย แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท เสียสละ และความเป็นผู้มีจิตอาสา ทำให้คนในชุมชนให้คุณค่ากับอาชีพนักบริบาลชุมชน และยังเป็นต้นแบบของการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย
มูลนิธิเอสซีจี ขอเป็นกำลังใจ และพร้อมสนับสนุน คนเก่งคนดี ด้วย “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” เพราะทุกคนมีความสามารถและมีโอกาสที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อสังคมที่เกื้อกูล มีความสุข และยั่งยืนต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org และ เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN
#LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี #รางวัลคุณธรรมอวอร์ด