เมื่อ : 29 เม.ย. 2566 , 190 Views
HPE Aruba Networking เผย อนาคตธุรกิจค้าปลีก ลงทุนเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปี 2566 เพิ่มขึ้น  แนะทีมไอทีเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

การคาดการณ์ใหม่ จาก Aruba และ Foresight Factory บริษัทวิเคราะห์เทรนด์ระดับโลก

เผย 5 แนวทางสำหรับธุรกิจร้านค้าปลีกในการใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

 

กรุงเทพ 28 เมษายน 2566 – HPE Aruba Networking บริษัทในเครือ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ เผยการคาดการณ์ธุรกิจค้าปลีกล่าสุดและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกผ่านการยกระดับด้วยเทคโนโลยี ณ งาน National Retail Federation 2023 (NRF 2023) เพื่อสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเตรียมรับมือกับความท้าทายของของธุรกิจค้าปลีกในอีก 12-18 เดือนต่อจากนี้

 

จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่เน้นประสบการณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ในปี 2023 ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหรือช่องทางการซื้อ ร้านค้าปลีกจึงต้องปรับตัว ทั้งในด้านของความยืดหยุ่น การสร้างประสบการณ์การซื้อที่เฉพาะตัว เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของทีมไอทีที่จะต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น

 

เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจของร้านค้าปลีกในปีนี้ HPE Aruba Networking ได้ร่วมมือกับ Foresight Factory บริษัทศึกษาเทรนด์ระดับโลก เผย 5 ด้านสำคัญของธุรกิจห้างร้านที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2023 ซึ่งทีมไอทีและเครือข่ายที่รับผิดชอบในการให้บริการจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยผลการวิจัยได้พบว่าการใช้โมเดลเครือข่ายที่ยืดหยุ่นและรวดเร็วมากขึ้นอย่าง Network-as-a-Service (NaaS) สามารถช่วยลดภาระของบุคคลากรและการใช้งานของเครือข่ายได้ และในขณะเดียวกันสามารถช่วยขยายธุรกิจ และสร้างระบบเครือข่ายที่เน้นผลลัพธ์ทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

 

1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับประสบการณ์ให้ผู้บริโภคในร้านค้า

เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับการซื้อสินค้าในร้านค้ารูปแบบเดิมเมื่อร้านค้าต้องการดึงดูดผู้บริโภคมายังหน้าร้าน ร้านค้าจะมีการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติม โดยผลวิจัยเผยว่าเทคโนโลยี AR และ VR มีแนวโน้มถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ในด้านของการเข้าใจสินค้า และความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ผู้ใช้ (UX) ในการช้อปที่ร้านค้าไปโดยปริยาย

 

2. การเพิ่มตัวเลือกการจัดส่งสินค้าให้มีความหลากหลาย

ความคาดหวังของผู้บริโภคในด้านตัวเลือกการจัดส่งสินค้าที่ตอบโจทย์ตามที่ต้องการกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการจัดส่งตามความต้องการของผู้บริโภค (on-demand) เวลา (time-shifted) และสถานที่ที่ผู้บริโภคสะดวก (location-flexible) ร้านค้าจึงต้องใช้วิธีผสมผสาน (hybrid) เพื่อจัดส่งสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งแบบดั้งเดิมจากศูนย์กระจายสินค้า ร้านขายส่งสินค้าขนาดเล็ก การจัดส่งแบบเร็ว grab and go หรือที่ตอบโจทย์ความสะดวก และบริการส่งพัสดุตามความต้องการ โดยการใช้เทคโนโลยี geolocation และการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือ mobile stores ที่ได้รับการพัฒนาที่แม่นยำมากขึ้น จะช่วยให้ร้านค้าสามารถปิดการขายที่บ้านหรือที่ทำงานของผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย

 

3. การใช้เทคโนโลยีอันสมัยใหม่ภายในหน้าร้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจ

เนื่องจากการซื้อขายออนไลน์มีการแข่งขันสูงมากขึ้น วีธีการซื้อของในร้านค้าจึงมีการปรับตัวเช่นกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องเพิ่มความพึงพอใจและสร้างประสบการณ์เฉพาะตัวให้กับผู้บริโภค แต่ยังต้องดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยหน้าร้านจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรม เช่น ห้องลองเสื้อผ้าอัจฉริยะและทางออกที่ชำระเงินอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านแคชเชียร์ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ต (IoT) ที่มีเซนเซอร์ สามารถสร้างข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยในการประหยัดทรัพยากรในการดำเนินงาน และตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

 

4. การมีข้อมูลสินค้าคงคลังที่อัจฉริยะสามารถช่วยรักษาความจงรักภักดีของผู้บริโภคต่อร้านค้า

ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อความรวดเร็ว ผู้บริโภคมักคาดหวังให้ธุรกิจขายปลีกส่งมอบสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ได้ในทันทีตามความต้องการ และต้องตรงกับสิ่งที่บริษัทได้ให้สัญญาไว้ ซึ่งการอัพเกรดเทคโนโลยีอัตโนมัติคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการติดตามสินค้าคงคลังให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที โดยหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ใช้ในโกดังและศูนย์กระจายสินค้าจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างชาญฉลาด และทำให้การขายสินค้าออเดอร์สั่งทำพิเศษ (made-to-order) กลายเป็นเรื่องธรรมดา และยังสามารถลดความสูญเสียและสินค้าคงคลังที่เกินจำเป็นลงอีกด้วย

 

5. จากโชว์รูม สู่ไลฟ์สตรีมมิ่ง

การไลฟ์สดจากหน้าร้านค้าจะกลายเป็นเรื่องที่พบบ่อยมากขึ้น เนื่องจากหลาย ๆ แบรนด์ต่างมองหาวิธีการสร้างประสบการณ์แนะนำสินค้ารูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงเบื้องหลังของสินค้าในแง่มุมต่าง ๆ การนำเสนอเช่นนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์สินค้าที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ และช่วยให้การใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่ในร้านค้าให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

นางสาวเจอร์รี่ ฮินเคิล ผู้อำนวยการด้านโซลูชัน และการตลาด Aruba กล่าว "ไม่ว่าจะเป็นด้านประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ไลฟ์สตรีม หรือวิธีการจัดส่งใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนความต้องการในการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการขายปลีกที่กำลังเพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือดมากขึ้น ดังนั้นการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมที่สามารถสนับสนุนการใช้งานได้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน”

 

“ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการขายปลีกจะต้องมีความสามารถในการคาดการณ์และมีความมั่นใจในเครือข่ายว่าสามารถยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และทีมไอที" 

 

“เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ผู้ประกอบการขายปลีกจำเป็นต้องพิจารณาเทคโนโลยีเครือข่ายในการดำเนินงานอีกครั้ง โดยพิจารณาโมเดลเครือข่ายทางเลือก เช่น NaaS ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความสามารถในการปรับตัวเมื่อพบความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง มั่นคง ปลอดภัย และการดำเนินการได้อัตโนมัติ สามารถรองรับเทคโนโลยีทั้งหมด และใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภครายใหม่และเปลี่ยนให้หน้าร้านกลายเป็นสมาร์ทสโตร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” เจอร์รี่ ฮินเคิล กล่าวปิดท้าย