เมื่อ : 13 ส.ค. 2566 , 196 Views
วว. คว้ารางวัล Bronze  Award  @ มหกรรมงานวิจัย 2566 จากการนำเสนอผลงาน “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้  ฟื้นฟูป่า  สู่ธนาคารธรรมชาติ

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัล  Bronze Award  จากการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่เด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ให้แก่ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะผู้แทน วว. จากการประกวดผลงานนิทรรศการ Thailand  Research Expo Award 2023  เนื่องในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566  ที่ วว. นำเสนอผลงาน “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้  ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ  เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่ง วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในกรอบการบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืน สนับสนุนการวิจัยโดย วช.โดยในงานดังกล่าวมีผลงานวิจัยพัฒนาที่ วช. คัดสรรมานำเสนอกว่า 1000 ผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โอกาสนี้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. รับโล่ขอบคุณในฐานะหน่วยงานสนับสนุนร่วมจัดงาน (วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์)

 

ผลงาน “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้  ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ  เป็นความสำเร็จของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับพันธมิตร  ได้แก่  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากการดำเนิน 3 โครงการ คือ 1) โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ  2) โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชีวมณฑลสะแกราชและการปรับตัวของชุมชนด้วยการส่งเสริมอาชีพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้องค์ความรู้จากป่าสะแกราช และ 3)โครงการการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยสามารถสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการปรับตัวและเสริมสร้างอาชีพของชุมชนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จากความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในป่าสะแกราช ในรูปแบบองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน