เมื่อ : 01 เม.ย. 2566 , 266 Views
กรมเจ้าท่า เดินหน้าแผนเชิงรุกปี 66  เข้มความปลอดภัย-สิ่งแวดล้อมทางน้ำ

เฝ้าระวังทุกมิติเพิ่มทักษะบุคลากร พร้อมตรวจเรือลักลอบปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำ

กรมเจ้าท่า เปิดแผนเชิงรุก ปี 2566 เพิ่มประสิทธิภาพ มาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำเข้มข้น การดูแลสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศ  อำนวยความสะดวกการออกใบอนุญาต ให้สอดรับกับทิศทางการเติบโต กองเรือไทย  เป็นไปตามกฎหมายไทย และอนุสัญญาระหว่างประเทศ  เดินหน้าพัฒนาโครงการ เพื่อลดกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ใช้เส้นทางน้ำในการบริหารจัดการ ทั้งการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ขุดลอกร่องน้ำ พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพประจำเรือให้เพียงพอ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

กรมเจ้าท่าได้กำหนดแผนงานเชิงรุกประจำปี 2566 ในการปฏิบัติการกำกับดูแลการจราจรทางน้ำและความปลอดภัย ซึ่งได้ให้ความสำคัญในมาตรการความปลอดภัยด้านการจัดการระบบขนส่งทางน้ำควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามพันธกิจของกรมเจ้าท่าในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเฝ้าระวังในทุกมิติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการท่าเรือ การยกระดับทักษะบุคลากรของทุกท่าเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการในการกำกับดูแลเรือและท่าเรือที่เข้ามาใช้บริการให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล  โดยเฉพาะกรณีของการลักลอบปล่อยของเสียออกจากเรือลงสู่แหล่งน้ำและทะเลที่มีผลต่อระบบนิเวศทางน้ำ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบและให้ผู้ประกอบกิจการเดินเรือดำเนินการตามมาตรการของกรมเจ้าท่าอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการยกระดับการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือและการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ได้มีการจัดอบรมหลักสูตรขจัดคราบน้ำมันเบื้องต้น ให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและยังเป็นการเพิ่มจำนวนบุคคลากรให้มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำที่เกิดจากคราบน้ำมันและของเสีย โดยเฉพาะวิธีการกำจัดและการใช้อุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันชนิดต่างๆอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้รับการฝึกอบรมทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกันได้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของกรมเจ้าท่าและการเฝ้าระวังในการป้องกันและแก้ปัญหาหากเกิดมลพิษทางน้ำได้อย่างถูกต้อง

 

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าให้ความสำคัญในการกำกับดูแล บริหารงานเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีทั้งระบบ ทั้งการเดินเรือ การนำร่อง การจดทะเบียนเรือ การใช้เรือหรือพาหนะทางน้ำอื่นทุกประเภท พร้อมกับการปรับปรุงดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง หรือเส้นทางน้ำให้สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาร่วมกันเป็นทางสาธารณะ


เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ จากการปฏิบัติการของกรมเจ้าท่าในทุกมิติ ทั้งด้านความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมทางน้ำที่ดี ปราศจากมลภาวะ ให้เป็นตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456  และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมของการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ เช่น ในกรณีน้ำมันรั่วไหล เรืออับปางและเกิดการรั่วไหลสารเคมี การบำรุงรักษาเรือ กิจกรรมการล้างถังเพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และการลักลอบทิ้งน้ำมันใช้แล้วลงทะเลของเรือบรรทุกสินค้า การพบคราบน้ำมันจากการลักลอบทิ้งในบริเวณชายฝั่งหรือชายหาดที่ติดต่อกับทะเลอันเนื่องมาจากลมมรสุมตามฤดูกาลพัดพามา การดำเนินกิจกรรมของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเล ที่ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนลงแหล่งน้ำลงทะเลได้


ในกรณีหากมีการกระทำความผิดในลักษณะขนถ่ายสิ่งของในเรือออกนอกลำเรือ หรือไปยังเรือหรือยานพาหนะอื่นในระหว่างอยู่ในเส้นทางเดินเรือและจุดพักคอย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำความผิดนั้นๆ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับการกระทำนั้น

 

นอกจากนี้สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล มีหน้าที่ในดูแลการเดินเรือเข้า-ออก ในเขตท่าเรือต่างๆ เพื่อการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ พร้อมทั้งการติดตามและฝึกซ้อมแผนรักษาความปลอดภัยเขตท่าเรือต่างๆ ประสานงานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยให้สอดคล้องกับประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงแผนการรักษาความปลอดภัยของเขตท่าเรือให้ทันสมัย  ตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยกับเรือสินค้าที่เข้ามาและ/หรือขนถ่ายบรรทุกสินค้ากลางทะเลบริเวณเขตท่าเรือ ตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศอีกด้วย
 

ทั้งนี้กรมเจ้าท่าได้จัดทำผลสำรวจในการประเมินความพึงพอใจในการตรวจตราการเดินเรือ ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 670 คน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการพบว่า มีความพึงพอใจคิดเป็น 75.64%  โดยแยกเป็นความพึงพอใจด้านเรือตรวจการณ์อยู่ในระดับ 72.54%  ด้านเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือ 78.34% ซึ่งถือว่ามีความพอใจอยู่ในระดับมากทั้ง 2 ส่วนและภาพรวมความพึงพอใจได้แก่ การแต่งเครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่คิดเป็น 82.12% การให้ความช่วยเหลือผู้โดยสาร 79.04% การให้คำแนะนำและตอบคำถามได้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ 78.80% โดยกรมเจ้าท่า จะนำผลสำรวจที่ได้จากการประเมินฯ นำไปปรับปรุง พัฒนางานด้านการตรวจตราความปลอดภัย และการบริการประชาชน ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป  

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ