ศูนย์นิทราเวช รพ. จุฬาฯ จัดยิ่งใหญ่ “สัปดาห์วันนอนหลับโลก 2566” ดึง รพ. สวนเบญจกิติ 84 พรรษา ร่วมให้บริการ แก้ปัญหาคนนอนหลับยากเพิ่มขึ้น
การนอนหลับเป็นกระบวนการที่สำคัญของร่างกายสำหรับมนุษย์ ในการพักผ่อนและฟื้นฟูการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ และเพราะมนุษย์ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ชีวิตในการนอนหลับ การนอนหลับจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่า การนอนที่ดีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรับประทานอาหารที่ดี หรือการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และการนอนหลับที่ดีอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
มีหลายการศึกษาพบว่าระยะเวลาในการนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือมากเกินไปส่งผลถึงอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อาการผิดปกติจากการนอน อาจส่งผลกระทบถึงการทำงาน การตอบสนองต่างๆ การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลถึงด้านสุขภาพจิตอีกด้วย
รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก” หรือ “The World Sleep Day” เป็นกิจกรรมที่คณะผู้จัดงานจากทั่วโลกและศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ดำเนินงานให้บริการรักษาผู้มีปัญหาการนอนหลับทุกรูปแบบมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดขึ้นเพื่อต้องการให้ทั่วโลกได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของ “การนอนหลับ” อย่างมีคุณภาพ
โดยที่ในปีนี้ กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก 2566” จัดงานภายใต้แนวคิด การนอนเป็นสิ่งสำคัญ นอนดีทุกวันสุขภาพแข็งแรง : Sleep is Essential for Health เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยเงียบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนไม่หลับหรือการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงแนวทางการป้องกันภาวะนอนไม่หลับและโรคที่เกิดจากการนอน และวิธีการนอนหลับให้มีคุณภาพซึ่งจะเกิดประโยชน์กับร่างกายอย่างมาก อาทิ ช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะโดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือดได้พักผ่อน ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย สารเคมีในร่างกายให้เกิดสมดุลที่เป็นปกติ ที่สำคัญช่วยจัดระเบียบความจำให้เป็นระบบได้อีกด้วย วันนอนหลับโลกของทุกปีจะตรงกับวันศุกร์ก่อนวันวสันตวิษุวัต (หรือวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน) ในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มีนาคม ในปี 2566 นี้
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยตระหนักถึงปัญหาการนอนไม่หลับซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะส่งผลกับสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทางกายและทางอารมณ์จิตใจ ทางโรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญกับการรักษาผู้มีปัญหาด้านการนอนเป็นอย่างมากผ่านศูนย์นิทราเวชที่ได้พัฒนาการให้บริการและส่งเสริมการให้ความรู้ที่ถูกต้องผ่านการจัดกิจกรรม จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกปี มีผู้ให้ความสนใจและมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน โดยในปีนี้มีความพิเศษคือ มีการให้บริการให้คำปรึกษาด้านการนอนหลับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย”
ไขข้อข้องใจ ให้ความรู้ ทุกปัญหาการนอนหลับ
กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกปี 2566” ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ อาทิ นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการนอน เช่น “ปัญหาที่ทำให้นอนไม่หลับ!” “การนอนกับสุขภาพร่างกายมีผลต่อกัน” “สุขภาพใจแบบใดมีผลต่อการนอนหลับ” “นาฬิกาชีวิตไม่ถูกใจสิ่งนี้!” “หยุดหายใจขณะหลับ เรื่องไม่เล็กที่อาจเกิดได้โดยไม่รู้ตัว” “ภาวะนอนกรน สัญญาณอันตรายที่พบบ่อย และคนข้างกายอาจรำคาญ!” “‘หลับตาซิที่รัก’ เทคนิคผ่อนคลายให้หลับสบายมีคุณภาพ” “พบแพทย์ พบคำปรึกษา หาหนทางเพื่อการนอนอย่างเป็นสุข” และ “สร้างสุขภาวะที่ดี และบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการนอนหลับ” รวมถึงการจัดแสดงวิดีทัศน์บอกเล่าประสบการณ์ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคจากการนอนหลับแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งไฮไลท์พิเศษของการจัดงานในปีนี้ คือการจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกตรวจพร้อมให้คำปรึกษากับผู้มีปัญหาเรื่องของการนอน โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้มีอาการ โรคนอนไม่หลับ (insomnia) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และปัญหาการใช้งานเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) จบงานสัปดาห์วันนอนหลับโลกด้วยการเสวนาให้ความรู้ตลอดทั้งวัน ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาแบ่งปันเทคนิคในการทำให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ เช่น โยคะฝึกลมหายใจ และออกกำลังกายเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เครือข่ายให้การสนับสนุน คนเข้าร่วมงานคับคั่ง
กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกปี 2566” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่งตลอดสัปดาห์และได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องที่ทำให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเครือข่ายให้การสนับสนุนและเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้แทนอธิบดีกรมอนามัย รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และ นพ.สุธรรม เศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนเบญจกิติ 84 พรรษา
นพ.สุธรรม เศรษฐวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน พบว่า ผู้ที่มีปัญหาจากการนอนหลับ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การนอนกรน การมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การนอนไม่หลับ หรือหลับยาก ส่งผลทำให้มีจำนวนผู้เข้ามารับบริการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้คิวเข้ารับการตรวจ Sleep Test ที่ศูนย์นิทราเวชฯ มีจำนวนมากและรอคิวค่อนข้างนาน จึงเกิดโครงการร่วมกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ 84 พรรษา เพื่อส่งต่อผู้เข้ารับบริการไปรับการตรวจ Sleep Test ทำให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานเช่นเดียวกับการเข้ารับบริการที่ศูนย์นิทราเวชฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยตรง เนื่องจากค่าใช้จ่ายสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์ได้ตามปรกติ มีค่าบริการเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1000 บาท เพื่อแลกกับการลดเวลารอคิว ทำให้มีเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้บริการที่ต้องการความรวดเร็วและไม่ต้องการรอนาน”
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ https://web.facebook.com/sleepcenterchula หรือ สนใจเข้ารับการตรวจที่คลินิกตรวจการนอนหลับพรีเมียม ติดต่อที่ 02-649-4037 Line id : @392mkjrr