เมื่อ : 11 มิ.ย. 2565 , 307 Views
สจล. พาส่องไฮไลท์นวัตกรรมช่วยเพิ่มรายได้ – ต่อยอดธุรกิจ  ปักหมุด 4 เส้นทางลัดของคนตัวเล็กที่จะกลายเป็นใหญ่ในอนาคต!!
• สจล. โชว์ของ ดึงนวัตกรรมสร้างทางลัดสำคัญเพื่อเพิ่มรายได้ และต่อยอดธุรกิจ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ รวมถึงแชร์ไอเดียจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ในรายการ “KMITL Innovation Inspiration” ที่จะมาถ่ายทอดความรู้การต่อยอดนวัตกรรมในการทำธุรกิจรับชมได้ผ่าน www.facebook.com/kmitlofficial
 
ต้องยอมรับว่าวิกฤต โควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ภาคธุรกิจจำนวนมากจำเป็นต้องปิดกิจการ ภาคครัวเรือนขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกัน โควิด-19 นั่นเอง ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งยังมอบ ‘บทเรียน’ แก่ภาคธุรกิจให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบธุรกิจรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจทั้งในรายเล็กหรือรายใหญ่ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้คือ ‘เทคโนโลยี นวัตกรรม’ ที่มีส่วนช่วยในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรสู่การเป็นอีก 1 ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้เสริมได้ในอนาคต เป็นต้น 
 
ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหนึ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่าง ‘สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง’ (สจล.) หรือ ‘KMITL’ ยังคงเดินหน้าพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ผ่านการผสมผสานองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์สู่การสรรสร้างนวัตกรรมที่สามารถ ‘ส่งต่อ’ เพื่อ ‘สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้’ แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ล่าสุด สจล. ได้จัดแสดงนวัตกรรมดาวเด่นที่สามารถต่อยอดได้ในเชิงธุรกิจ พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากรวมถึงภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในงาน ‘KMITL INNOKET 2022 ตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพ-ต่อยอดธุรกิจ’ เพื่อตอกย้ำการเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ (The World Master of Innovation) โดยแท้จริง ดังนี้ 
 
• ต่อยอดของเหลือใช้ ด้วย “นวัตกรรมการแปรรูป” 
การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สิ่งเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ถือเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้จากสิ่งใกล้ตัว โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่นเดียวกับนักวิจัยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล. ที่มองเห็นประโยชน์ของสิ่งเหลือทิ้งจากนาข้าวอย่าง ‘ปลายข้าวหักหรือข้าวหัก’ เศษของเมล็ดข้าวที่เกิจากการแตกหักมาพัฒนาเป็น ‘สแน็คกรอบจากข้าวเหนียวหัก’ อาหารทานเล่น มาพร้อมกระบวนการทำและส่วนผสมของวัตถุดิบ เพราะมีทั้งข้าวเหนียว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เทมเป้ กะทิ และโปรตีนถั่วเหลือง แถมยังให้รสสัมผัสที่หอมมัน ผิวสัมผัสที่พองกรอบเสมือนทานข้าวเกรียบว่าวและขนมแดกงา ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนใดที่สนใจสามารถขอรับการถ่ายทอดนวัตกรรมได้ในราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท 
 
 
   
 
นอกจากปลายข้าวหักแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดสภาวะล้นตลาดทุกช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนคือ ‘มะม่วง’ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ภายใต้โครงการห้องปฏิบัติการทางสังคม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่อย่างยั่งยืน (Social Lab KMITL) ได้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มจนเกิดเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ‘มะม่วงไซเดอร์’ เครื่องดื่มที่ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด/ท้องเฟ้อ ลดอาการระคายคอ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดสูงจากการนำมาผ่านกระบวนการผลิตสูตรเฉพาะ ระหว่างนักวิจัยและบริษัทเอกชนผู้ร่วมทุนบริษัท แอกโกรนิก้า จำกัด ในเลขที่ทรัพย์สินทางปัญญา 12907 จากการนำน้ำส้มสายชูหมัก (Fermented Vinegar Production Process) มาผสมน้ำหมักเข้ากับอากาศ (Internal Venturi Ejector System) ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวนับเป็น 1 ในเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงได้ เพื่อสร้างประโยชน์ทางการค้า ตลอดสนับสนุนภาคการเกษตรลดปัญหาราคามะม่วงตกต่ำได้อย่างยั่งยืนในอนาคต 
 
 
   
 
• ยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างคุณภาพและมาตรฐาน จาก “นวัตกรรมตรวจคุณภาพ”
มาตรฐานและคุณภาพของผลผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและสามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อย่างการสร้างมาตรฐานให้กับผลผลิตการเกษตรของไทย ที่ทีมนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้คิดค้นและพัฒนา ‘เครื่องคัดแยกคุณภาพเนื้อทุเรียน’ ด้วยโซ่ถาดลําเลียงคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) ที่สามารถระบุได้ว่าพูทุเรียนที่ผ่านการลำเลียงบนสายพานนั้น มีคุณภาพอยู่ในระดับ ‘อ่อน หรือ แก่’ รวมถึงมีปริมาณแป้งและน้ำตาลของทุเรียนมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นเครื่องดังกล่าวยังสามารถใช้ตรวจวัดการขาดสารอาหารของผลผลิตได้อีกด้วย ผ่านการตรวจจากใบทุเรียน นับได้ว่าเครื่องคัดแยกคุณภาพเนื้อทุเรียน จะมีส่วนคัดสรรคุณภาพผลผลิตก่อนจัดจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวได้รับทุนในการพัฒนางานวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สว
 
 
   
 
อย่างไรก็ดี นอกจากการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพผลไม้แล้ว ทางคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. ยังได้คิดค้น ‘แผ่นตรวจสารเคมีในผัก-ผลไม้ชนิดใช้ซ้ำได้’ ที่สามารถตรวจร่องรอยของสารเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ อุปกรณ์สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 30 รอบ โดยมีอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรและพร้อมต่อการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในงบลงทุนที่ 200,000 บาท 
 
 
   
 
• โดดเด่น ทันสมัย อาหารปลอดภัยด้วย ‘นวัตกรรมสุดไฮยีน’
อาหารริมบาทวิถี หรือ สตรีทฟู้ด ในประเทศไทยถือเป็นเอกลักษณ์ และได้รับความนิยมจากประชาชนในเมืองรวมถึงชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย จึงต้องมุ่งเน้นด้านความสะอาดของอาหารให้เป็นสิ่งที่สำคัญ ทางคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. จึงได้ออกแบบนวัตกรรมอย่าง ‘รถเข็นสุดไฮยีน’ เทคโนโลยีข้างถนน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและสร้างมาตรฐานร้านค้าสตรีทฟู้ดที่ถูกสุขลักษณะ ทั้งยังสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น จากการมีฟังก์ชันรถเข็นที่มาพร้อมระบบน้ำเพื่อทำความสะอาดผลผลิต/อุปกรณ์ต่างๆ ที่ครบจบในตัว ระบบบำบัดควันให้ใสสะอาดก่อนปล่อยคืนสู่อากาศ ที่นอกจากช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังช่วยลดการสร้างกลิ่นอาหารกระจายทั่วบริเวณ เป็นต้น โดยเครื่องมือทำกินชิ้นนี้ราคาอยู่ที่ 40,000 – 50,000 บาท ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ
 
 
 
• ตอบโจทย์ผู้บริโภค ‘เม็ดดินเผา ป๊อปเพอร์ไลท์’ 
การทำธุรกิจสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความสนใจของผู้บริโภค ที่จะทำให้ธุรกิจของตอบโจทย์ความต้องการได้ยู่เสมอ อย่างกระแสการปลูกต้นไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่อยู่ติดบ้านมากขึ้น หรือกระทั่งต้องการสร้างบรรยากาศการเรียนและการทำงานที่เต็มไปด้วยความสดชื่น ผ่อนคลาย และสบายตา ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบที่กำลังมองหานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ในราคาประหยัดเพื่อนำมาต่อยอดเป็นรายได้ให้กับตัวเอง ทาง สจล. จึงคิดค้นเม็ดดินเผา ป๊อปเพอร์ไลท์ ที่ใช้สำหรับปลูกพืชและปิดหน้ากระถางไม้ประดับ มีคุณสมบัติในการช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในกระถางต้นไม้ และสารอาหารให้พืชได้ดี โดยเม็ดดินเผา “ป๊อปเพอร์ไลท์” เกิดจากการนำส่วนผสมที่หาได้ง่าย ราคาถูก และสามารถเผาขึ้นรูปได้ด้วยการใช้อุณหภูมิที่ต่ำลง ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนลงได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานอีกด้วย โดยมีมูลค่าการจำหน่ายเริ่มต้นอยู่ที่ 50 บาทต่อแพค
 
 
   
 
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ผู้เริ่มต้นธุรกิจ ตลอดจนผู้สนใจต่อยอดนวัตกรรมเพื่อเป็นอาชีพใหม่ในอนาคต สามารถรับชมไอเดียและแรงบันดาลในการสร้างสรรค์ผลงานทำเงินข้างต้นย้อนหลังโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ รายการ “Inspiration Program: ไอเดียนวัตกรรมปั้นธุรกิจ” ทาง www.facebook.com/kmitlofficial รายการที่จะมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม พร้อมส่งแนวคิด แรงบันดาลใจในการฝ่าฟันทุกอุปสรรคระหว่างการทำธุรกิจ รวมถึงแลกเปลี่ยนไอเดียการต่อยอดนวัตกรรม จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย 
 
 


   
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเงื่อนไขการถ่ายทอดงานวิจัย หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial, www.kmitl.ac.th ไลน์ไอดี @KMITL (https://lin.ee/EL20c8h)
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ