เมื่อ : 20 เม.ย. 2565 , 505 Views
ถึงเวลา...ถอดบทเรียนรักษ์โลกในวัน Earth Day ภารกิจลดโลกร้อน ความยั่งยืนด้านพลังงาน และเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งประวัติศาสตร์  มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตโลกร้อนส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปทำให้เกิดความผันผวนของราคาทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อเนื่องในการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนทุกชีวิต
 
เนื่องใน “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ถือเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคต ได้ตระหนักว่าการมีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาโลกให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญในการบริหารการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสมดุล
 
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิกฤตโลกร้อน รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางด้านพลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอพาย้อนไปถึง 2 เหตุการณ์ไฟฟ้าดับ (Blackout) ครั้งสำคัญของโลก ซึ่งถือเป็นบทสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารการผลิตพลังงานและใช้พลังงานนั้นต้องอาศัยปัจจัยใดบ้าง เพื่อให้ทุกชีวิตบนโลกที่ไม่หยุดหมุนใบนี้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างราบรื่น
 
เริ่มด้วยเหตุการณ์ไฟดับในรัฐอัสสัมของอินเดีย* ในเดือนกรกฎาคม 2555 ถือเป็นเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ชาวอินเดียกว่า 600 ล้านชีวิตไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึง 2 วัน ต้องอยู่ในความมืดท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ไม่สามารถเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศระบายความร้อน การสื่อสารถูกตัดขาดเนื่องจากระบบโทรคมนาคมล่ม รวมถึงการคมนาคมหยุดชะงัก ผู้คนไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ตามปกติ มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีรถไฟหลายล้านคน และอีกหนึ่งเหตุการณ์ไฟดับที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา* ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่เกิดพายุหิมะถล่มในช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน จนน้ำแข็งเกาะกังหันของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของรัฐเท็กซัส ส่งผลให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้สำหรับสร้างความอบอุ่นในช่วงที่อากาศหนาวจัด จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 60 รายจากอาการอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ รวมถึงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำดื่มและอาหาร ผู้คนต่างพากันกักตุนเสบียงและของใช้จำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิต
 
2 เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการขาดความพร้อมและความมั่นคงในการส่งมอบพลังงาน (Availability & Stability of Supply) และการผลิตพลังงานไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุขัดข้องหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ ในทางปฏิบัติในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานบางประเภทยังมีข้อจำกัด ทั้งในด้านความต่อเนื่องในการผลิต ความต้องการไฟฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า การสร้างความสมดุลของแหล่งพลังงานที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องมีเสถียรภาพ จึงมีความสำคัญ ในขณะเดียวกัน การเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนสำหรับโรงไฟฟ้าบางประเภทก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกหรือภาวะวิกฤตต่างๆ อาทิ แผ่นดินไหว ภัยจากสึนามิ หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ก็ถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้ผลิตพลังงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากรณีข้างต้นเลย
 
BPP จึงให้ความสำคัญกับการบริหารพอร์ตฟอลิโอของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยหลัก ARE ซึ่งประกอบด้วย 3 หัวใจหลักคือ การส่งมอบพลังงานในราคาที่สมเหตุสมผล (Affordable) จับต้องได้ ทุกคนต้องเข้าถึงพลังงานได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลที่แตกต่างกัน พลังงานในราคาที่สมเหตุสมผลจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีเสถียรภาพในการส่งมอบพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) พลังงานที่ยั่งยืนต้องสามารถส่งมอบได้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยไม่มีการสะดุดหยุดชะงัก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าและไฟฟ้าดับในพื้นที่ต่างๆ และพลังงานที่ยั่งยืนต้องเป็นมิตรต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการนำเทคโนโลยี HELE หรือ High Efficiency, Low Emissions เข้ามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจตามหลักสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล (Economic - Environment - Security of Supply) ในพื้นที่ต่างๆ นั่นคือ สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเสถียรภาพ เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่สร้างคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการพลังงานตามบริบทและกฎกติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
 
BPP ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นสำคัญ พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อร่วมขับเคลื่อนทุกคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ไปพร้อมๆ กับการดูแลโลกให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

 

 
 
*อ้างอิงข้อมูล
- https://www.theblackoutreport.co.uk/2020/12/07/11-biggest-blackouts/ 
- https://www.bbc.com/news/world-56085733
- https://edition.cnn.com/2021/02/18/weather/winter-storm-weather-thursday/index.html