เมื่อ : 26 มี.ค. 2565 , 846 Views
เด็ก TCAS 65 ร้องว้าว! สจล. พารีวิว 4 สาขามาแรง ผลิตนักศึกษาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจแห่งอนาคต นวัตกรรมวัสดุ-การบินและอวกาศ-เทคโนโลยีเกษตร-วิศวกรรมเสียง
กรุงเทพฯ 25 มีนาคม 2565 -  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รีวิว 4 คณะ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ คณะเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ และวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต รับเทรนด์สายอาชีพในกลุ่มธุรกิจที่จะมาแรงยุคโพสต์โควิด (Post COVID-19) อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว สินค้านวัตกรรม ธุรกิจนิทรรศการ-คอนเสิร์ต ธุรกิจเกษตร ฯลฯ  โดย สจล. มีการพัฒนาหลักสูตรรวมถึงการเร่งพัฒนาห้องปฏิบัติการสุดทันสมัย เปิดให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง เรียนรู้จริง เกิดทักษะจริง เตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงานได้อย่างมั่นใจ
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kmitl.ac.th/th โทร. 02-329-8111 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial
 
รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไปสถานการณ์การต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งการเรียนการสอน การค้าขาย การเดินทาง การบริการ กลุ่มธุรกิจที่จะมาแรงยุคโพสต์โควิด (Post COVID-19) อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว สินค้านวัตกรรม ธุรกิจนิทรรศการ-คอนเสิร์ต ธุรกิจเกษตร ฯลฯ ดังนั้นจากโอกาสดังกล่าวจะทำให้สายอาชีพในหลายๆ สาขาจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจะมี 4 กลุ่มอาชีพที่จะมีความน่าสนใจได้ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านวัสดุ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร รวมไปถึงกลุ่มวิศวกรรมด้านเสียงและดนตรี โดย สจล. ได้พัฒนาหลักสูตร คณาจารย์ รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยเพื่อผลิตผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะผ่าน 4 คณะและวิทยาลัย ประกอบด้วย

 
   

   
 
วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ
 
ผศ. ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่จัดตั้งหลักสูตร สาขาวิชานาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีตลอดจนปริญญาเอก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านนวัตกรรมวัสดุโดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย นอกจากนั้นยังเป็นที่เดียวในประเทศไทย ที่มีห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมนาโนที่ทันสมัยแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษาสร้างประสบการณ์
 
   

   
 
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
 
ผศ. ดร.ธงชัย พุฒทองศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีการเกษตรมุ่งยกระดับเกษตรกรรมไทย ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นรูปแบบโมดูล (Modular System) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของตนตามกลุ่มวิชาในลักษณะโมดูล (Module) มีห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อบ่มเพาะประสบการณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในทุกกระบวนการ ตั้งแต่จัดตั้งและการเตรียมห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช อาหารพื้นฐานและวิธีการเตรียมอาหาร การเลือกเนื้อเยื่อพืชและการฟอกฆ่าเชื้อ รูปแบบการพัฒนาการของเนื้อเยื่อพืช การผลิตพืชปลอดโรคและการเก็บรักษาพันธุ์พืช ต่อยอดเป็นนักวิชาการด้านเกษตรในหน่วยงานภาครับและเอกชน เป็นผู้จัดการสมาร์ตฟาร์ม ตลอดจนเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตรกรรมที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการปรับปรุงผลผลิตและการจัดการระบบฟาร์ม

 
   

   
 
วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ
 
ผศ. ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. เปิดเผยว่าวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ประกอบไปด้วยสาขาวิชาต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกสายอาชีพด้านอุตสาหกรรมการบิน อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ เพื่อผลิตนักบินป้อนตลาดสายการบินที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สงบลง หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ครบและครอบคลุมในทุกๆ ด้านกับหลักสูตรล่าสุดที่สร้างคนไทยสู่เส้นทางสร้างนวัตกรรมทางอากาศอย่างเต็มตัวกับหลักสูตรนวัตกรรมการบินอวกาศที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนสาขาที่สนใจได้แบบยืดหยุ่น 3 สาขาได้แก่ วิศวกรภาคพื้นดินที่สนับสนุนด้านการบิน นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และวิศวกรด้านอวกาศ นักศึกษาจะได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงกับเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น  Airbus ผู้นำด้านอากาศยานระดับโลกในหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับวิศวกรรมการบินรุ่นใหม่ในชื่อ “ACT for Academy” (Airbus Competence Training (ACT) for Academy) ซึ่งมีเพียงสถานศึกษาเดียวในไทยและ 1 ใน 8 ของโลกเท่านั้น ที่ได้รับการสนับสนุนหลักสูตรดังกล่าว

 
      

   
 
วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต
 
ผศ. ดร.พิทักษ์ ธรรมวารินคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. เผยว่าวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประยุกต์ความรู้ศาสตร์วิศวกรรม ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร/โทรคมนาคม เข้ากับศิลปะ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง ในคอนเสิร์ต รวมถึงเสียงในภาพยนตร์และแอนิเมชัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดนตรี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ มีห้องปฏิบัติการ Immersive Sound ห้องมิกซ์เสียงในสถาบันการศึกษาแห่งแรกของอาเซียน สามารถฟังเสียงได้รอบทิศทาง 360 องศา เช่นเดียวกับสตูดิโอชั้นนำของต่างประเทศ นักศึกษาจะได้ใช้ห้องนี้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และสร้างผลงานของตัวเอง โดยสามารถนำไป On Air ใน Streaming Services ได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นที่แรกในอาเซียนที่ได้จัดตั้งหลักสูตรด้านอะคูสติก นักศึกษาที่จบจากคณะวิศวกรรมสังคีตสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมด้านดนตรีและเสียงในหลายสาขาอาชีพ อาทิ วิศวกรที่ทำงานด้าน Sound Engineer Light and Sound Control Live Show ทั้งในรูปแบบของคอนเสิร์ตและละครเวที ด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียง และโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์ วิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม สจล. ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย อาทิ ห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับนักศึกษาว่าจะได้ฝึกประสบการณ์จากปฏิบัติทำให้มีความพร้อมในการทำงานจริงหลังเรียนจบ ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็มั่นใจได้ว่าจะมีบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอรองรับการขยายตัวในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า สจล. เป็นสถาบันที่มีวิสัยทัศน์ในการนำรากฐานด้านนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นมาต่อยอดในการสร้างบุคลากรด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในเวทีเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ได้ รศ. ดร.อนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
 
            สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kmitl.ac.th/th  โทร. 02-329-8111 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial