เมื่อ : 17 มี.ค. 2565 , 690 Views
ผลประกอบการบ้านปู เพาเวอร์ปี 2564 แข็งแกร่งต่อเนื่อง  เน้นเติบโตด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ และขยายการลงทุนในประเทศศักยภาพ
• ปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โรงไฟฟ้าทุกแห่งเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ
•  มุ่งขยายกำลังผลิตจาก 3,242 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter และการผสานความร่วมมือในกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem)
• เดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศศักยภาพ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี และเทคโนโลยีพลังงานในเวียดนาม


 
 
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา BPP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 85 และร้อยละ 91 ตามลำดับ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน สามารถสร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ (Quality Megawatt) สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

 
ฮาติ๋ญ (Ha Tinh) ในเวียดนาม



ชูง็อก (Chu Ngoc) 
ในเวียดนาม



น็อนไห่ (Nhon Hai) ในเวียดนาม



โรงไฟฟ้า Temple I ในสหรัฐอเมริกา




โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น
 
 
ด้านความสำเร็จในการสร้างการเติบโตของเมกะวัตต์คุณภาพ (Quality Megawatt) นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน BPP สามารถขยายกำลังผลิตและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าในพอร์ตธุรกิจตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้น 580 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) รวม 457 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา และโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นรวม 123 เมกะวัตต์ จากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในออสเตรเลีย การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง และธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในเวียดนาม และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่งในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม ในไตรมาส 1/2565 อีกด้วย ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตรวม 3,242 เมกะวัตต์เทียบเท่า


 

 
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
 
 
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “BPP เร่งเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเน้นการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) ที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener & Smarter, มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น เวียดนาม โดยนอกจากการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว ล่าสุดยังได้ลงทุนในธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป โดยได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ 49.04 ของ Solar Esco Joint Stock Company ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนามที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร ตอกย้ำการขยายเมกะวัตต์ผ่านการผสานความร่วมมือในกลุ่มบ้านปู, สร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น พร้อมมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในโรงไฟฟ้า HELE ในประเทศที่มีศักยภาพ, รวมทั้งเดินหน้าการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกาจากระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) หาโอกาสการลงทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (Energy Trading) พร้อมศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน     


 
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.65 บาท โดยกําหนดจ่ายเงินปันผลคงเหลือในงวดนี้อีกหุ้นละ 0.35 บาทในวันที่ 27 เมษายน 2565 และกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 11 เมษายน 2565

BPP มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนที่ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน พิสูจน์ด้วยรางวัล Rising Star Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และล่าสุดยังได้รับการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจากสถาบัน S&P Global ด้วยคะแนนประเมินในระดับสูงมาก (Very High) และได้รับการคัดเลือกอยู่ใน Sustainability Yearbook 2022 พร้อมทั้งได้เข้าไปอยู่ใน SET100 และ SETHD สะท้อนความเชื่อมั่นในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียในระยะยาว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ได้ที่ www.banpupower.com
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ