เมื่อ : 31 มี.ค. 2568 , 79 Views
“ศุภมาส” เปิดแผนยุทธศาสตร์รับมือแผ่นดินไหว เจาะลึกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ววน. ผนึกกำลังภาครัฐ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต ในเวที “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ: นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย”

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ: นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” และปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับการรับมือภัยพิบัติ” เพื่อถอดบทเรียนกรณีแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร เปิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ววน. พร้อมใช้รับมือภัยพิบัติในทุกมิติ มุ่งสร้างความเข้มแข็งในการรับมือต่อภัยพิบัติในอนาคต โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กทม.

 

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้รับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 3 ด้านหลัก 

1) “พัฒนาระบบเตือนภัยในทุกมิติ” แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง พร้อมระบบข้อมูลและการสื่อสารที่รวดเร็วและทั่วถึง 2) “เสริมการจัดการภัยพิบัติ” สนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการจัดการภัยพิบัติและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนในพื้นที่ 3) “สร้างความเข้มแข็งชุมชน” ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรมให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน

 

รมว.อว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดย สกสว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการในแผนงานสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติแบบบูรณาการ โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว อาทิ 

1.) “InSpectra-01” เทคโนโลยีที่นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการตรวจจับและวัดขนาดรอยร้าวในโครงสร้างอย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสียหายของโครงสร้าง ด้วยระบบ Agentic.AI พัฒนาโดย รศ.ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรีศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวัง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

2.) “เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวราคาประหยัด” เซนเซอร์ตรวจวัดอาคารเป็นอุปกรณ์ที่วัดค่าความเร่ง สามารถวัดค่าความสั่นสะเทือนและแจ้งเตือนผ่านเซนเซอร์นี้ โดยลดต้นทุนการนำเข้าจากหลักแสน เหลือเพียงหลักหมื่นบาท ทำให้ “ผู้ใช้” ซึ่งเป็นวิศวกรดูแลอาคาร และผู้บริหารโรงพยาบาลสามารถตัดสินใจถึงความปลอดภัยของอาคารได้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว พัฒนาโดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา 

3.) “หุ่นตรวจการและเก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น D-EMPIR V.4” ถูกออกแบบสำหรับการปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิด และสามารถซ่อมบำรุงได้ง่ายเมื่อเกิดความเสียหาย โดยในช่วงสถานการณ์วิกฤตหุ่นยนต์ D-EMPIR V.4 ได้ถูกนำมาลงพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ที่มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยหุ่นยนต์มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัวสูง มีการติดตั้งแขนกลพิเศษ สามารถเข้าพื้นที่แคบได้โดยใช้แขนกลหยิบจับสิ่งของและปีนป่ายทางต่างระดับได้อย่างคล่องตัว พัฒนาโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) 4.) “แพลตฟอร์ม Traffy Fondue” เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการแจ้งเหตุและบริหารจัดการปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ ช่วยให้ข้อมูลถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ลดระยะเวลาในการประสานงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน พัฒนาโดย ห้องปฏิบัติการระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวให้กับประชาชน โดยขณะนี้มีการแจ้งข้อมูลเข้ามากว่า 5000 กรณีแล้ว 

 

ด้าน ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเน้นการนำ ววน. มาใช้ในการรับมือภัยพิบัติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้ 

1.) จัดสรรงบประมาณวิจัย: ภายใต้แผนงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตระดับประเทศ เช่น แผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

2.) ร่วมมือกับ สอวช. ทบทวนและยกระดับแผนด้าน ววน. ของประเทศ: เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 

3.) นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัย: เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ 

4.) สนับสนุนภารกิจด้านการสร้างความตระหนักรู้ การป้องกัน และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกระดับ: ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือภัยพิบัติ 

5.) ขับเคลื่อนบทบาทของ อว. และ สกสว. ให้เป็นกลไกลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน: เน้นย้ำเป้าหมายหลักคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

“สกสว.พร้อมรับนโยบาย กระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การรวมกลุ่มของวิศวกรรมร่วมใจ อววน. ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Talents & Knowledge) ระบบที่เชื่อมต่อประชาชนกับภาครัฐเพื่อประเมินความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว  (Al-Enable Traffy Fondue โดยกองทุน ววน.) และที่สำคัญคือการร่วมงานเครือข่ายกับต่างประเทศสร้างความรู้เชิงระบบเตือนภัยกับประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น โดยความร่วมมือนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยรับประมาณ” ผอ.สกสว. กล่าว

 

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาเกร็ดความรู้ “รับมือธรณีพิโรธ” ในประเด็น “ธรณีวิทยาและความเสี่ยงของแผ่นดินไหวในประเทศไทย” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) “การออกแบบอาคารและโครงสร้างเพื่อรับมือแผ่นดินไหว” โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย “เทคโนโลยีเตือนภัยแผ่นดินไหวและการพัฒนาโดยนักวิจัยไทย” โดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล