เมื่อ : 18 ม.ค. 2568 , 89 Views
เอ็นไอเอ - สสวท. ร่วมเปิดระบบ “เครดิตแบงก์” กลุ่มวิชาสะตีม – นวัตกรรม ส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพเด็กไทย พร้อมเชื่อมระบบสะสมหน่วยกิต จากมัธยมศึกษาเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2568 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมในสถาบันการศึกษา ผ่านการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับพื้นที่ให้สามารถส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรม สมรรถนะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนและหน่วยงานภาคราชการระดับพื้นที่ ควบคู่กับการจัดทำหนังสือเรียนที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลงานนวัตกรรมของนักเรียน และมุ่งหวังการใช้ระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) สำหรับวิชาพื้นฐานด้านนวัตกรรมให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้สามารถนำหน่วยกิตไปยื่นรับรองในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในระบบการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

 

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีแผนการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระบบนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการปฏิบัติในระดับบุคคล ผ่านการดำเนินแผนพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนในหลักสูตร STEAM4INNOVATOR และการส่งเสริมทักษะการเป็นนวัตกร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบัน NIA ได้ดำเนินโครงการ Trainers’ Lab ปั้นครู-อาจารย์เป็นผู้สร้างนวัตกร และสร้างสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อผลิต “นวัตกรรุ่นเยาว์” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับมัธยม อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยไม่จำกัดว่าเยาวชนต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปศาสตร์เท่านั้น เพราะทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นนวัตกรได้

 

“NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือนี้จะเกิดการพัฒนาหลักสูตรและการจัดทำหนังสือเรียนที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลงานนวัตกรรมของนักเรียน โดยครูผู้สอนสามารถใช้หนังสือดังกล่าวเป็นคู่มือในการสอนเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม และใช้เครือข่ายพันธมิตรของทั้งสองหน่วยงานในการขับเคลื่อน ขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังมุ่งหวังการใช้ระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) สำหรับวิชาพื้นฐานด้านนวัตกรรมให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้สามารถนำหน่วยกิตไปยื่นรับรองในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในระบบการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาได้อย่างยั่งยืน”

 

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สสวท. กำหนดจุดเน้นในการดำเนินงานไว้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรสื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาครู ตลอดจนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถพิเศษ รวมทั้งผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยสาขาขาดแคลน ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และนวัตกร ทั้งนี้ สสวท. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานตามนโยบายการยกระดับการเรียนรู้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนให้มีสมรรถนะทั้งศาสตร์และศิลป์ ตามแนวทาง STEAM Education ในระดับสากล โดยปัจจุบัน สสวท. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบสำหรับโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดย สสวท. มีบทบาทและความรับผิดชอบหลักในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในโครงการ ซึ่งคณะทำงานได้มีแนวคิดที่จะพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานให้มีการต่อยอดพัฒนาเป็นลักษณะโครงงานนวัตกรรม การได้พัฒนากรอบความร่วมมือทางวิชาการกับ NIA ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกันพัฒนาและต่อยอด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความเชี่ยวชาญเฉพาะของทั้งสองหน่วยงานในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนให้เป็นนักคิด นักแก้ปัญหา และนำไปสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ