พก. ตั้งเป้าปี 68 ผลักดันการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ร้อยละ 100 และหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 30
ย้ำ ‘การร่วมมือ’ ในทุกภาคส่วน เป็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความยั่งยืนในอนาคต
ปัจจุบัน การสร้างอาชีพถือเป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ “การบริหารจัดการเงินทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมพลังคนพิการ มุ่งส่งเสริมสังคมแห่งความเท่าเทียม” โดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถือเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มโอกาสให้คนพิการเข้าถึงการสร้างอาชีพ ลดภาระในสังคม สร้างอาชีพที่ยั่งยืนสู่คนพิการ ในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการต้องการให้คนพิการมีงานทำและรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีส่วนร่วมทางสังคม และสามรถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป
นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวว่า สถานการณ์ของงานด้านคนพิการในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากที่จะต้องใส่ใจ เพราะการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ความเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวน และปรับตัวพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงตระหนักว่า การกำหนดทิศทางการทำงานด้านคนพิการ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทสถานการณ์ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยต่าง ๆ หรือสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบการต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการจ้างงานระยะยาวตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ทั้งนี้ เน้นให้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพของคนพิการที่มีทักษะการทำงานด้านต่าง ๆ รวมถึง พก. ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทุกด้าน ทุกระดับ ผ่านเครื่องมือการขับเคลื่อนงานในรูปแบบ นโยบาย กฎหมาย และเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 มีการตั้งเป้าหมายการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการร้อยละ 100 และหน่วยงานของรัฐร้อยละ 30
โดยกระทรวง พม. มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทั้งหมด 9547 คน จะต้องดำเนินการรับคนพิการเข้าทำงานให้ครบตามสัดส่วน จำนวน 95 คน ซึ่งได้ดำเนินการรับ คนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 124 คน และมาตรา 35 จำนวน 31 คน รวมแล้วในปี 2567 รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และมาตรา 35 จำนวน 155 คน
สำหรับเรื่องของข้อจำกัดและอุปสรรคหรือแม้กระทั้งเรื่องของการบูลลี่คนพิการในสังคม พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากทัศนคติและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการเพราะเรื่องของทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจว่าคนพิการก็เป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพเท่าเทียมกับคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งการเข้าไปเติมเต็ม และอำนวยความสะดวกคนพิการ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ การเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติในการทำงานเกี่ยวกับคนพิการและความพิการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องสื่อสารอย่างถูกต้อง ซึ่งถือเป็น Soft power ในการเปลี่ยนแปลง Mind set ที่จะมี Impact อย่างมากในทุกมิติ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการผลักดันสร้างอาชีพสำหรับคนพิการในสถานประกอบการต้องมีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และช่วยสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงอาชีพและสถานประกอบการได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ พก. ได้ส่งเสริมทักษะ และเพิ่มศักยภาพให้คนพิการสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความมั่นคง โดยเน้นการ “สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สำหรับคนพิการ” ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานที่สำคัญ เพราะการที่คนพิการมีทักษะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการก็จะทำให้ เกิดการจ้างงานคนพิการเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น นายธนวัฒน์ เกตุแก้ว คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ที่ได้เข้าทำงานในสถานประกอบการ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในหน้าที่ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ ตรงกับสาขาที่เรียนจบมา ซึ่งการทำงานในสถานประกอบการเป็นการช่วยสนับสนุนให้โอกาสคนพิการได้ทำงานหาเลี้ยงชีพตนเอง และที่สำคัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ถึงแม้จะเกิดมาพิการแต่ก็สามารถมีอาชีพมีงานทำ มีรายได้ดูแลตัวเองได้ สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เห็นคุณค่าของคนพิการในสังคมมากขึ้น
นายโชคชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปพร้อมกัน เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างกระทรวง พม. โดย พก. กับคนพิการและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถของคนพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจ และการปรับภาพลักษณ์ด้านความคิดของสังคมที่มีต่อคนพิการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งเป้าหมายให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการถูกต้องและครบถ้วนทุกแห่ง