สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ จัดกิจกรรม ”Master of Complication หัตถการความงาม” สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณจัดกิจกรรม”Master of Complication หัตถการความงาม”
เผยบทบาทภาระหน้าที่ในการส่งเสริมวิชาการและการประกอบโรคศิลปะด้วยเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ พร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมประชุมนานาชาติ “IMCAS asia” ครั้งที่ 6 ในเดือน มิถุนายนปี 2568 นี้
พญ.นลินี สุทธิพิศาล นายกสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวถึงความเป็นมาและวิสัยทัศน์ของสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ ว่า สมาคมเวชสำอางและตจศัลยศาสตร์ เป็นสมาคมที่จดทะเบียนได้รับใบอนุญาตเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เพื่อส่งเสริมวิชาการและการวิจัยด้านเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ พร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกและองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความสามัคคีและจริยธรรมเสมอมา โดยทางสมาคมฯมีการจัดการประชุมเพื่อให้ความรู้แก่แพทย์ผู้มีความสนใจ ด้านการรักษาด้านความงามและตจศัลยศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 23 รวมถึงการประชุม “Master of Complication” ในวันนี้ที่เป็นการรวบรวมปัญหาและการแก้ไขผลข้างเคียงจากการรักษาหัตถการด้านความงาม เพื่อพัฒนายกระดับมาตรฐานการรักษาการดูแลผลข้างเคียงให้กับคนไข้ในระดับสากล โดยได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันแบ่งปันประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้ทักษะในหมู่แพทย์ เพื่อความมั่นใจให้กับประชาชนผู้รับบริการทั้งนี้ทางสมาคมยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมประชุมนานาชาติ “IMCAS asia” อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมอีกครั้งเป็นครั้งที่ 6 ในเดือน มิถุนายนปี 2568 นี้
ด้าน รศ. พิเศษ พญ.วิไล ธนสารอักษร กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณกล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาด้านความงามเป็นที่สนใจและเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์ด้านความงามในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดดจนเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลก แต่อย่างไรก็ตามการรักษาที่มากขึ้นทั้งจำนวนผู้รักษา และความหลากหลายของหัตถการย่อมทำให้เกิดกรณีศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงทางการรักษา เช่น ภาวะการอุดตันของเส้นเลือด การสูญเสียการมองเห็น การติดเชื้อหลังการรักษาด้วยสารเติมเต็ม การเกิดภาวะผิวไหม้ แผลเป็น จากการรักษาด้วยเลเซอร์ คลื่นเสียง และคลื่นวิทยุ รวมถึงภาวะหน้าผิดรูป การติดเชื้อ และผลข้างเคียงอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นได้ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจและความพิการ จนถึงอาจอันตรายถึงชีวิตได้ การประชุมครั้งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อการแบ่งปันประสบการณ์การดูแลรักษาภาวะผลข้างเคียงต่าง ๆ จากหัตถการด้านความงาม หลักในการตรวจรักษาและการดูแลผู้ป่วยที่พบผลข้างเคียงตามมาตรฐานสากล จากการแบ่งปันประสบการณ์ในกรณีศึกษาที่น่าสนใจโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมายจากหลากหลายสถาบัน
ด้าน ดร.พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวว่า การรักษาด้านผิวพรรณและความงาม เป็นกลุ่มหัตถการที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง และมีการพัฒนาการรักษาใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดทั้งกระแสความนิยมในการรักษาที่เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับการรักษาต่าง ๆ ทั้งการใช้สารเติมเต็มฟิลเลอร์ (filler) การใช้ Botulinum toxin อุปกรณ์เลเซอร์ คลื่นเสียง คลื่นวิทยุ รวมถึงตัวยาใหม่ ๆ เช่น biostimulator ที่ใช้ในการกระตุ้นการเสริมสร้างและปรับปรุงคุณภาพผิวรวมไปถึง stem cell exosome และการรักษาด้วยยาและอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมที่แพทย์และผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา รวมถึงควรได้รับวิธีการรักษาตามการจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง ยาฉีด ยาทา หรือเครื่องมือแพทย์อย่างถูกต้อง ภายในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและความปลอดภัยสูงสุดของผู้รับบริการ หากเกิดผลข้างเคียงทางการรักษา แพทย์ควรมีการเตรียมตัวทั้งทางด้านทักษะ ความรู้ ทั้งในด้านกายวิภาคศาสตร์ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา ผลิตภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยและการให้การรักษาที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ในสถานพยาบาล เพื่อการดูแลรักษาผลข้างเคีย งของคนไข้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะในภาวะจำเป็นเร่งด่วน