ปรับเปลี่ยนการกิน อร่อยเต็มเปี่ยมโซเดียมเต็มคำ เตือนก่อน ”ไตพัง”
โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การกินเค็มหรือการบริโภคโซเดียมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ผู้ที่มีค่าไตสูงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไตและส่งเสริมให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
"ไต" มีไว้ทำไม
"ไต" เปรียบเสมือนโรงงานบำบัดน้ำเสียภายในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการกรองเลือด เพื่อกำจัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญอาหาร เช่น ยูเรีย ครีเอตินิน และสารพิษอื่น ๆ ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ นอกจากนี้ ไตยังมีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล ควบคุมความดันโลหิต สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายอีกด้วย หากไตทำงานผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคกระดูก และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด
"โซเดียม" กระบวนการทำลายไตในระยะยาว
เมื่อบริโภคโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่สูง ไตจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย การสะสมของโซเดียมในเลือดจะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่ม ความดันโลหิตสูงขึ้น และสร้างแรงดันในหลอดเลือดของไต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมสภาพในระยะยาว นอกจากนี้ การบริโภคโซเดียมมากเกินไปยังส่งผลให้เกิดภาวะต่าง ๆ ที่ทำลายไต เช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อไต เกิดจากโซเดียมสะสมที่กระตุ้นการอักเสบ
ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือดไตทำให้เกิดการรั่วไหลของโปรตีนการเกิดนิ่วในไต โซเดียมกระตุ้นการขับแคลเซียมในปัสสาวะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลึกนิ่วได้
แต่โซเดียมก็ไม่ได้เป็นวายร้ายไปซะทีเดียว ยังถือเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เพียงแต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
สถิติ "โรคไต" ในไทย
จากข้อมูลจากกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าในปี 2565 มีคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่า 11.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 8000000 คนในปี 2563
ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตเพิ่มขึ้นจาก 80000 คนในปี 2563 เป็น 100000 คนในปี 2565
ปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคไตเรื้อรังคือโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วย นอกจากนี้ พฤติกรรมการกินเค็มเกินพอดี เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยวันละ 3635 มก. ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไม่ควรเกินวันละ 2000 มก. หรือประมาณ 1 ช้อนชา
ความหมายของคำว่า "ไตพัง"
ความเชื่อที่ว่า "การกินเค็ม" ทำให้ไตวายนั้นเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง "เพียงบางส่วน" การรับประทาน "โซเดียม" ในปริมาณมากเกินไปอย่างต่อเนื่องต่างหาก จะส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น ทำให้ไตเสื่อมสภาพและเกิดโรคไตเรื้อรังได้ การลดการบริโภคโซเดียมสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- ลดการใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารรสเค็ม
- เลือกอาหารสดแทนอาหารแปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์สด
- อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้ออาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ปรุงอาหารเองเพื่อลดการเติมเกลือและซอสต่าง ๆ หรือลองปรุงรสด้วยสมุนไพรแทนการใช้เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป
-หลีกเลี่ยงการเติมเกลือเพิ่มในอาหารสำเร็จรูป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยในการขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต และช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยชะลอความเสื่อมของไต
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้ทราบถึงภาวะสุขภาพของไตและสามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
หมั่นคอยดูแลและรักษา "โรคไต"
โรคไตในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการที่เด่นชัด ทำให้หลายคนอาจมองข้ามและไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคไตอยู่ จนกระทั่งโรคมีความรุนแรงมากขึ้นจึงเริ่มแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ดังนั้น การสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจพบโรคและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
อาการเบื้องต้นของโรคไตที่พบบ่อย
- ปัสสาวะผิดปกติ เป็นฟอง มีเลือดปน เปลี่ยนสี
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
- อาการบวมที่เท้า หน้า และข้อเท้า
- ความดันโลหิตสูง เพราะไตมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิต หากไตทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตอาจสูงขึ้น
- สึกเหนื่อยล้า เมื่อไตทำงานผิดปกติ จะไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผลจากการสะสมของเสียในร่างกายมากเกินไป
ผิวหนังคัน การสะสมของของเสียในร่างกายอาจทำให้ผิวหนังคัน
เหตุใดจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้
- การตรวจพบโรคไตในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชะลอความรุนแรงของโรคได้
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากปล่อยให้โรคไตเรื้อรังลุกลาม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง
- รักษาคุณภาพชีวิต การรักษาโรคไตอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ไม่ใช่แค่เค็มที่ทำลาย "ไต"
- เป็นสาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรัง
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรังทำลายหลอดเลือดในไต
- โรคทางพันธุกรรม
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจลุกลามไปยังไต
- การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อไต - - การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น หินในไต หรือเนื้องอก
- ภาวะขาดน้ำเรื้อรัง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าปล่อยให้ไตพังแล้วต้องมานั่งฟอกไต หลายคนอาจคิดว่า ไตมีตั้ง 2 ข้าง เลยทำให้มองข้ามความสำคัญ แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อเสียไตไปสักข้าง การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง "การฟอกไต" ไม่ใช่เพียงเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว แต่ยังหมายถึงความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า และความรู้สึกโดดเดี่ยวในห้องฟอกไตที่ต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน "การผ่าตัดเปลี่ยนไต" แม้จะดูเป็นทางรอด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้ไตใหม่ และยังต้องต่อสู้กับความเสี่ยงหลังการผ่าตัดอีกมากมาย ลองคิดถึงการสูญเสียไต 1 ข้างที่อาจมาจากพฤติกรรมเล็ก ๆ เช่น กินเค็มเกินไปหรือดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ฟังดูธรรมดาแต่สามารถนำไปสู่ความทุกข์ทรมานตลอดชีวิต อย่ารอให้ถึงวันที่คุณต้องนั่งบนเตียงฟอกไตกับคำถามในใจว่า "ทำไมฉันไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่แรก" จงเริ่มดูแลไตตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป