Mitsubishi Electric ประเทศไทย รวมพลังความร่วมมือ สร้างเครือข่าย ECOSYSTEM เพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างยั่งยืน
Mitsubishi Electric ประเทศไทย จัดงาน Sustainable Building Collaboration 2024 พร้อมประกาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เดินหน้าสร้างอีโคซิสเตม (Ecosystem) ตอบโจทย์เทรนด์ “อาคารสีเขียว” ด้วยโซลูชันและผลิตภัณฑ์อัจฉริยะครบวงจรจาก Mitsubishi Electric และพันธมิตร เพื่อผลักดันไทยพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emission อย่างยั่งยืน
Mitsubishi Electric ประเทศไทย ได้จัดงาน Sustainable Building Collaboration 2024 ขึ้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจในภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้แต่ละธุรกิจสามารถตัดสินใจได้บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสม และชาญฉลาด ผ่านกลยุทธ์การบริหารการใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อการลดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงชี้ให้เห็นโอกาสในการสร้างเครือข่าย ด้วยการสาธิตจากบริษัทในกลุ่ม Mitsubishi Electric ประเทศไทย รวมถึงบริษัทผู้แทนจำหน่าย ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะนำไฮไลต์ของผลิตภัณฑ์ โซลูชัน ที่โดดเด่นของแต่ละบริษัทมาร่วมจัดแสดงในบูธต่าง ๆ ภายในงาน เพื่อให้สอดรับกับแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ "พ.ร.บ.โลกร้อน" ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขออนุมัติสำหรับดำเนินการในทุกภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย และการเกษตร
นายเทสึยะ ชิโนะฮารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวคิดสำคัญในการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน Mitsubishi Electric Group ว่า “ในงานเราได้นำความน่าสนใจของระบบอัตโนมัติที่ใช้ในการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ที่ต้องร่วมกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยทางกลุ่ม Mitsubishi Electric มีความพร้อมที่ทำงานร่วมกันกับทั้งบริษัทในเครือและรวมถึงบริษัทพันธมิตรของลูกค้าทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเราได้วางกลยุทธ์ของบริษัทโดยมีเป้าหมาย มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่มีชีวิตชีวาและยั่งยืน โดยใช้หลักการพื้นฐานของเราในการร่วมแก้ปัญหาที่ท้าทายของสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เรามี ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความมั่นคงและปลอดภัย (Safety/Security) การร่วมมือกัน (Inclusion) และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) โดยเราได้นำแนวคิดวิศวกรรมดิจิทัลแบบหมุนเวียน “Circular Digital-Engineering” มาใช้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นระบบการเชื่อมโยงองค์ความรู้สำคัญสู่ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างคุณค่าใหม่ เป็นการนำเสนอแนวทางการร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมในทุกด้าน นอกจากนั้น ที่ผ่านมา เรายังได้ออกแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Serendie” ขึ้น เพื่อ เป็นระบบกลางในการบริหารจัดการข้อมูลและความร่วมมือของในกลุ่มฯ และรวมถึงพันธมิตรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามแนวทาง Circular Digital-Engineering อีกด้วย”
นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ให้ความรู้ในนโยบายและกฎเกณฑ์ของ อบก. ที่จะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ว่า “ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก จากนี้ไป ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องมีการรายงานอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในทุกปี ตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ลดโลกร้อน รวมถึง ถ้าผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มีค่าการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาก ก็จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มด้วย โดย พ.ร.บ. นี้คาดว่าจะมีการประกาศใช้อย่างช้าที่สุดในปี 2025 และเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการไทย ในปัจจุบันทาง อบก. ได้พัฒนาเครื่องมือหลากหลายให้องค์กรได้นำไปประยุกต์ใช้ในการลดคาร์บอน มุ่งสู่ Net zero ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดต้นทุน เร่งสร้างกลไกการรับรองคาร์บอนฟุต พริ้นท์ทั้งในระดับองค์กร และในระดับผลิตภัณฑ์ การรับรองในส่วนของคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตของไทยก็ต้องปรับตัวกับเทรนด์นี้ถ้าอยากส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม EU นอกจากนี้กระแสการสร้าง “อาคารสีเขียว” มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการใช้งานตัวอาคาร ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลายแบรนด์เข้ามาขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์สำหรับผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง”