มจพ. – กฟผ. เปิดใช้เตาเผาศพอัจฉริยะแห่งแรกของไทย ลดมลพิษ เป็นมิตรกับชุมชน มจพ. ร่วมกับ กฟผ. เปิดใช้เทคโนโลยีเตาเผาศพอัจฉริยะแห่งแรกของไทย ที่วัดโพธิ์เผือก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ช่วยลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก
วันนี้ 19 กันยายน 2567 ช่วงเวลา 13.30 น.ได้จัดเวทีเสวนา“ทิศทางการขยายผลเทคโนโลยีเตาเผาศพอัจฉริยะ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ หัวหน้าคณะนักวิจัยโครงการฯ คุณสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม ดร.วัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดล้อม จังหวัดนนทบุรี และนางจันทนา ภาคย์ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 กรมควบคุมมลพิษ โดยมี ดร.อินธนันต์ เหล็กนวลชูสิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ต่อมาช่วงเวลา 15.00 น. นางระพีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดใช้เทคโนโลยีเตาเผาศพอัจฉริยะแห่งแรกของไทย ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบเตาเผาศพประสิทธิภาพสูง อัจฉริยะ ลดมลพิษ เป็นมิตรกับชุมชน กล่าวว่า เตาเผาศพอัจฉริยะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ที่ช่วยลดมลภาวะก๊าซเรือนกระจกในภาพของประเทศ และลดโลกร้อน ปัจจุบันเตาเผาศพตามวัดต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 หากเตาเผาศพของวัดที่ยังไม่มีระบบบำบัดมลพิษ ถ้าปรับปรุงให้สามารถควบคุมมลพิษได้อย่างอัตโนมัติ และใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยชุมชนโดยรอบวัดแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพงษ์ เลิศวิริยะประภา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เครือข่ายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวเสริมว่า มจพ. ร่วมกับ กฟผ. ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบเตาเผาศพประสิทธิภาพสูง ดังกล่าว ได้ทำการประเมินสมรรถนะของเตาเผาศพ และสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 49 วัด พร้อมทั้งออกแบบเตาเผาศพอัจฉริยะ เป็นระบบไฮบริด โดยนำขดลวดไฟฟ้ามาใช้ในการให้ความร้อนร่วมกับการใช้หัวเผาน้ำมัน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์มากขึ้น ออกแบบให้การทำงานและการควบคุมระบบต่าง ๆ เป็นแบบอัตโนมัติ มีระบบเซ็นเซอร์วัดค่า และควบคุมความทึบแสงของควัน ระบบบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพผ่านระบบ IoT สามารถดูสถานะการทำงานต่าง ๆ ของเตาเผาศพผ่านแพลตฟอร์ม สามารถแจ้งเตือนสภาวะการทำงานต่าง ๆ ของเตาเผาศพ พร้อมทั้งรายงานผลค่าใช้จ่าย ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ระยะเวลาในการเผา และมีระบบควบคุมมลพิษ
นายชัยยศ หาญอมร ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพอากาศ จึงได้ร่วมกับ มจพ. พัฒนาเตาเผาศพอัจฉริยะขึ้น ภายใต้แผนจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (EGAT Air Time) ด้วยการใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อ สภาวะโลกร้อน รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเตาเผาศพอัจริยะนี้จะเป็นต้นแบบสำหรับวัดอื่น ๆ ในการนำไปปรับปรุงเตาเผาศพต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การใช้งานเตาเผาศพอัจฉริยะหนึ่งครั้ง ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงได้กว่า 947 เมกะจูล หรือคิดเป็น 37% หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 167 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 93.87 % สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เกือบ 700 บาท หรือคิดเป็น 32.32 % และสามารถควบคุมค่าความทึบแสงของเขม่าควันที่ปล่อยจากเตาเผาได้ไม่เกิน 4%