เมื่อ : 10 ม.ค. 2565 , 906 Views
ผลสำรวจชี้คนไทยอัปเดตข้อมูลและปัญหาสุขภาพผ่านโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประเมินว่าในพ.ศ. 2564 สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 แสดงว่าประชากรทุก ๆ 100 คน จะพบจำนวนผู้สูงอายุ 30 คน และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในพ.ศ. 2568
 
โครงการสำรวจการเปิดรับสื่อเรื่องสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เอบีเอ็ม คอนเนค ดิจิทัลพีอาร์เอเจนซี่ชั้นนำของประเทศไทย โดยได้มีการจัดทำแบบสำรวจการเปิดรับสื่อเรื่องสุขภาพของประชาชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกเจเนอเรชั่นจากทั่วทุกภูมิภาค ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงไตรมาส 4/2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 750 คน เพื่อเก็บข้อมูลและปัญหาของช่องทางการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การปรับแก้ความเข้าใจผิดในการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในภายหลังได้

 
   
 
 
รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คนไทยมีความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ และเปิดรับข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขามองว่า ปัญหาสุขภาพส่วนตัวที่พบบ่อย ภาวะสุขภาพของคนในสังคม เช่น สังคมสูงวัย โรคติดต่อไม่เรื้อรัง มาถึงภาวะโรคระบาดที่ขยายวงไปทั่วโลก เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน  แต่ความตื่นตัวและความต้องการทราบข้อมูลที่รวดเร็วในทันที อาจเกิดการเชื่อตาม ๆ กัน หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในบางครั้ง การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของการสื่อสาร และบทบาทของนักสื่อสารที่จะพบจากประสบการณ์การทำงานจริง
 
“ความท้าทายของโครงการนี้คือ เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาจะได้ลงมือปฎิบัติจริง บนพื้นฐานของการพิจารณาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการเปิดรับสื่อในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้กำหนดทิศทางสำหรับการวางแผนประชาสัมพันธ์ในแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ สอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและเป้าประสงค์ในการประชาสัมพันธ์” รศ.กัลยกร กล่าว

 
   
 
 
สื่อโซเชียล โทรทัศน์ ปากต่อปาก ช่องทางหลักเปิดรับข้อมูลสุขภาพ
ในการสำรวจนี้ กลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ครอบคลุมกลุ่มนักศึกษา วัยเริ่มทำงาน ไปจนถึงวัยใกล้เกษียณ แบ่งออกเป็น ช่วงอายุ 18-24 ปี (30%)  25-34 ปี (18.8%)  35–45 ปี (14%) และ 46-60 ปี (20%) ซึ่งทั้งในภาพรวมหรือ แยกตามกลุ่มอายุ จะอัปเดตข้อมูลและปัญหาสุขภาพผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด รองลงมาคือ โทรทัศน์ และตามมาด้วยการแบ่งปันข้อมูลแบบปากต่อปาก
 
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางที่สำคัญในการเปิดรับข่าวสารทางด้านสุขภาพของคนไทย ประชาชนให้ความสำคัญและระบุถึงความจำเป็นต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปและสุขภาพของตนเอง ซึ่งมาจากทั้งความสนใจส่วนตัวที่ต้องการดูแลสุขภาพ ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาหรือวัคซีน รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและความงาม นอกจากนี้ จะให้ความสนใจกับบุคคลหรือแหล่งข้อมูลที่ตนเชื่อถือ หรือสนใจเมื่อมีกระแสในสังคม ทางช่องทางโซเชียลยอดฮิต ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม และเมื่อนึกถึงการรับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (เช่น เทรนเนอร์ และนักโภชนาการ) รวมถึงบุคคลใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัวและเพื่อน เป็นผู้มีอิทธิพลที่ประชาชนให้ความสนใจและเชื่อถือ

 

 
 
ต่างรุ่นก็มี “ไอดอลสุขภาพ” ต่างกัน
อาจารย์พรรณวดี ประยงค์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ ให้ความเห็นว่า คนต่างรุ่นจะให้ความสนใจไอดอลทางด้านสุขภาพต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี จะนึกถึง “หมอริท” นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช และ “หมอเคท” พญ.ของขวัญ ฟูจิตนิรันตร์ เป็นตัวอย่างบุคคลที่สนใจหรือให้ความเชื่อถือ ขณะที่คนอายุมากกว่า 60 ปี ก็จะสนใจ “หมอยง” ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ นอกจากนี้กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ยังให้ความสนใจกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “ฟ้าใส พึ่งอุดม” และ “เบเบ้” ธันย์ชนก ฤทธินาคา จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ส่งสารให้กระจายออกไปในวงกว้าง ช่วยให้ข้อมูลทางด้านการดูแลสุขภาพเข้าใจได้ง่ายขึ้น
 
นอกจากบุคคลที่น่าเชื่อถือแล้ว ปัจจุบัน คนไทยยังเปิดรับข้อมูลสุขภาพจากหลากหลายแหล่ง ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อน อินฟลูเอนเซอร์ เช่น ยูทูบเบอร์ เพจชื่อดังต่าง ๆ ผู้สื่อข่าว นักสื่อสารมวลชน รวมไปถึงอสม. และผู้นำชุมชน อีกทั้งยังมีน้ำหนักการกระจายใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นการรับข้อมูลไว้เพื่อตัดสินใจในอนาคต (71%) ยังไม่ได้จะปฏิบัติตาม หรือบอกต่อในทันที การรับข่าวสารข้อมูลจึงอาจเป็นในรูปแบบความเห็นที่สอง หรือจากประสบการณ์ของคนอื่นมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

 
   
 
 
แมสได้…แต่ต้องเจาะตรงถึงเป้าหมายด้วย
การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้กลุ่มตัวอย่างจะมีอายุและภูมิลำเนาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพผ่านช่องทางโซเชียลเป็นหลักเหมือนกัน  โดยพวกเขาเลือกรับข้อมูลข่าวสาร ทั้งข่าวเหตุการณ์ทั่วไปในสังคม และข่าวสารด้านสุขภาพ จากสื่อใกล้ตัวที่เข้าถึง และจากช่องทางหรือบุคคลที่สนใจ ดังนั้น การที่สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อนอกบ้าน จะดึงความสนใจได้ จึงเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้น ทางเลือกในการสื่อสาร จึงควรเจาะเฉพาะกลุ่ม หรือ หากลุ่มเป้าหมายให้เจอ แล้วใช้ช่องทางที่สอดคล้องกับสังคมของกลุ่มเป้าหมาย
 
อาจารย์พรรณวดี กล่าวถึงระเบียบวิธีวิจัยในครั้งนี้ว่า ด้วยการสนับสนุนโครงการจากบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK จึงได้เลือกทำการสำรวจทางออนไลน์ เนื่องจากมีความสะดวกในการเข้าถึงและสามารถกระจายไปยังกลุ่มตัวอย่างในจังหวัด หรือภูมิภาคต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการสัมผัสในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการสุ่มกระจายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดทำแบบสำรวจครั้งนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักศึกษาที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำแบบสำรวจ การรับฟังผู้บริโภค และการนำข้อมูลไปใช้จริง  
 
ด้านนางสาวสุวิมล เดชอาคม กรรมการบริหาร เอบีเอ็ม คอนเนค ได้ให้มุมมองถึงการเรียนรู้ที่จะเป็นบันไดเปิดทางไปสู่เส้นทางสายอาชีพการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งทุกวันนี้มีบทบาทและความหมายที่กว้างขึ้นว่า นักการสื่อสารที่ดีต้องอิงข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนให้ความสนใจติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลการทดลองทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการดูแลสุขภาพร่างกายให้ปลอดภัย จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีความสนใจข้อมูลในแต่ละเรื่อง การเชื่อมโยงแต่ละโรคที่แตกต่างกันออกไป การสื่อสารข้อมูลสุขภาพเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอย่างสัมฤทธิ์ผล จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในยุคนี้ 
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ