สวทช. จัดเวทีรับฟังความเห็น ต่อการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ปักหมุดไทยจัดตั้ง Food Bank ระดับประเทศ เกิดขึ้นจริง ยั่งยืน และเหมาะสมกับบริบทไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็น (Public Hearing) ต่อแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เมื่อ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ทั้งในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้บริจาคอาหาร ภาคการศึกษา และชุมชนหรือผู้แทนชุมชนผู้รับบริจาคอาหาร ซึ่งเข้าร่วมมากถึง 12 ชุมชนจากทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์จิตอาสาเพื่อมวลชน จ.นครสวรรค์ เครือข่ายผู้นำชุมชนเขตลาดพร้าว เป็นต้น โดยในงานมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60 คน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ จัดทำเป็นนโยบายภาพรวม พร้อมชูมาตรการส่งเสริมทางภาษี และการส่งเสริมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน Carbon Footprint / Carbon Credit จากขยะอาหาร เพื่อหมุดหมายโครงการสู่การจัดตั้ง Thailand’s Food Bank ให้เกิดขึ้นได้จริง ยั่งยืน และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กร สวทช. กล่าวว่า จากที่ได้มีการเปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ที่ สวทช. ร่วมกับมูลนิธิ SOS ได้รับการสนับสนุนจาก สวก. และหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้น นำมาสู่เวทีเปิดรับฟังความเห็น (Public Hearing) ต่อแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ในวันนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกินหรือ Food surplus (กรณีศึกษาพื้นที่นำร่อง กทม. และ ต่างจังหวัด)” เพื่อช่วยแก้ไขในเรื่องปัญหาการสูญเสียอาหารหรือขยะอาหาร ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยการรับฟังความเห็นครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกับ SOS เข้าระดมความคิดเห็นกว่า 60 คน เพื่อนำไปจัดทำเป็นแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของประเทศไทย สู่การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศต่อไป
ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย สวทช. หัวหน้าโครงการการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า โครงการการศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus ได้ทำการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือกลไกสนับสนุน รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อการขยายผล ซึ่งส่วนหลังเป็นหนึ่งในที่มาของการประชุมรับฟังความเห็นวันนี้ โดยจุดสำคัญของอาหารส่วนเกิน พบว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา จะถูกทิ้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีการพยายามพัฒนาแนวทางการบริจาคอาหารส่วนเกินออกมาให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับ Food Bank เหมือนเช่นในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์และคาร์บอนเครดิต ซึ่งการมีคาร์บอนเครดิตกับการบริจาคอาหารส่วนเกิน อยากเห็นภาพของ Food Bank ในประเทศไทยที่ขายคาร์บอนเครดิตจากการลดปริมาณขยะอาหาร ดังที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะช่วยพลิกโฉมการดำเนินงาน Food Bank จากเดิมในรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตที่ทำให้มีโอกาสเลี้ยงดูตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนนี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยข้อเสนอแนะมาตรการ 2 ด้านที่จะสนับสนุนคือ มาตรการภาษี และคาร์บอนเครดิต นับเป็นแนวทางเพื่อให้การจัดตั้ง Food Bank เกิดขึ้นได้จริงและไปต่อได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
“สวทช. มีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในหลายส่วน อย่างแพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ของเนคเทค ที่นำไปเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank ของมูลนิธิ SOS เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการรับบริจาคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กรมอนามัยฝากเรื่องโภชนาการกับการบริจาคอาหารให้เด็ก ต่อไปทุกอย่างจะบรรจุในแพลตฟอร์มนี้ เป็นต้น ขณะที่ในเรื่องมาตรการด้านคาร์บอน สวทช. มีเอ็มเทค ดูแลเรื่องฐานข้อมูลการปล่อยคาร์บอน เรากำลังจะทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์อาหารส่วนเกินที่ได้กอบกู้มา ซึ่งจะมีประโยชน์และแรงจูงใจต่อผู้บริจาคในการไปบอกกับสังคมได้ว่า การบริจาคครั้งนี้ลดการปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร และในอนาคตอาจจะใช้จุดนี้ทำเงินบางส่วนได้ด้วย”
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ที่ปรึกษาโครงการวิจัย และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการบริจาคอาหารส่วนเกินคือ การสร้างเครือข่าย โดยเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับผู้บริจาคกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนพันธมิตรผู้บริจาคมากกว่า 1200 แบรนด์ (ปี 2567) ซึ่งเป็นเรื่องลำดับแรก ๆ ที่ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการบริจาคอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยังควรให้ความสำคัญกับอาหารที่ไปถึงมือผู้รับ นอกเหนือจากปริมาณที่เพียงพอแล้ว ยังต้องมีโภชนาการอาหารที่ครบ 5 หมู่ด้วย จุดนี้ต้องหาแนวทางร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ยังมองว่าด้วยพื้นฐานคนไทยมีจิตใจชอบบริจาคและให้ทานกันเป็นทุนเดิม แต่อาจจะยังขาดในเรื่องช่องทางที่ให้บริจาค จึงควรมีการสื่อสารและแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ที่อยากบริจาคมากยิ่งขึ้น
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดเวทีให้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในบริบทของประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ถึงคำว่าอาหารส่วนเกิน ที่ไม่ใช่อาหารเหลือ แต่เป็นเพียงอาหารที่จำหน่ายไม่หมด ซึ่งยังมีคุณภาพที่ทานได้ หรือในเรื่องของโลจิสติกส์ที่เป็นระบบการจัดการการส่งอาหาร อยากให้มีจุดพักอาหารหรือมีห้องเย็นที่เก็บอาหารไว้ได้ ขณะที่ตัวแทนมูลนิธิ SOS ได้เสนอว่า อยากให้หน่วยงานของภาครัฐร่วมแชร์ข้อมูลพื้นที่ตั้งของกลุ่มเปราะบางว่าอยู่ที่ใดบ้าง เพราะการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันจะทำให้ SOS สามารถนำอาหารไปส่งได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และลดค่าใช้จ่ายในด้านค่าน้ำมันขนส่งได้ด้วย
นอกจากนี้ มีการเสนอว่าอาจจะหาแนวทางหรือมาตรการจูงใจให้บริษัทหรือหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ เช่น ไปรษณีย์ บริษัทขนส่ง อย่างการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ผู้รับอาหารสามารถรับได้ใกล้และสะดวกที่สุดได้ รวมถึงยังมีผู้แทนจากหน่วยงานให้บริจาคเสนอว่า มาตรการภาษีจะเป็นแรงจูงใจสำหรับเอกชน เพราะ BOI มีกลไกการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน ถ้า Food surplus เข้าไปเชื่อมต่อมาตรการตรงนี้ได้จะเป็นการดีอย่างมาก เช่น การบริจาครถสำหรับขนส่ง และให้เอกชนที่บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น เหล่านี้นับเป็นเพียงบางส่วนของการสะท้อนมุมมองข้อคิดเห็นต่อการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งหัวหน้าโครงการฯ กล่าวปิดท้ายอย่างมุ่งมั่นว่า โครงการฯ จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่วแน่ โดยเร็ว ๆ นี้จะขยายไปในพื้นที่เขตภาคอีสาน และจะมีการขยายผลต่อไปในทุกภาคส่วนกิจกรรม รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือมากยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีธนาคารอาหารแห่งชาติและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง