สกสว.จัดเวทีระดมสมองนักวิจัยอาวุโส สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม
สกสว. เปิดเวทีผนึกกำลังเครือข่ายเมธีวิจัยอาวุโสและศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เพื่อหารือแนวทางพัฒนานักวิจัยและส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยในระบบ สร้างนิเวศที่เอื้อต่อการเสริมแกร่งขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม "ระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายเมธีวิจัยอาวุโสและศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เพื่อร่วมออกแบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ" โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยชั้นนำของประเทศเข้าร่วมหารือถึงทิศทางการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมใน 3 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาการวิจัยขั้นแนวหน้า การเพิ่มจำนวนและพัฒนาบุคลากรวิจัยของประเทศ และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนและศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาบุคลากรวิจัยใน 3 ประเด็น ได้แก่ งานวิจัยขั้นแนวหน้า อุตสาหกรรม และสังคมศาสตร์ ให้มีศักยภาพพร้อมรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ" โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศในเส้นทางเดียวกันทั้งภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคประชาสังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่หลากหลาย พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยในระบบ ววน. ผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กสว.ได้กำหนดนโยบายและทิศทางเพิ่มเติม ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในระบบ ววน. ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจและตัวอย่างความสำเร็จ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ 35% (8000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนากำลังคน และนโยบายการวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานทางวิชาการ การให้การสนับสนุนงบประมาณผูกพันหลายปีต่อเนื่อง การส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นภายใต้คำแนะนำของนักวิจัยอาวุโส และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการระหว่างสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ยังขาดแคลน “การขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด คือ อยากให้เมธีวิจัยอาวุโสและศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นทุกคนที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ เกิดการเปิดรับไอเดียและคำแนะนำที่ไปสู่การเปิดเส้นทางใหม่และเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม ให้คำแนะนำและกำลังใจเพื่อให้การพัฒนาบุคลากรวิจัยไม่หยุดนิ่ง”
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า สกสว. ได้เล็งเห็นศักยภาพของเมธีวิจัยอาวุโสและศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักวิจัยชั้นนำที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทีมและบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อร่วมออกแบบกรอบทิศทางการผลิตและพัฒนาบุคลการวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566-2570 ของประเทศ ประกอบด้วย 1) การวิจัยขั้นแนวหน้าที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ รวมถึงการประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดสู่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขั้นแนวหน้า 2) การยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น 3) การพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีความร่วมมือด้านการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันหรือศูนย์วิจัยกับเครือข่ายระดับนานาชาติอย่างเข้มแข็งในวงกว้าง
การประชุมครั้งนี้ สกสว. มุ่งหวังที่จะผนึกกำลังจากนักวิจัยระดับแนวหน้าของไทยในการร่วมกำหนดโจทย์การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรับมือความท้าทายในอนาคต และต่อยอดผลงานวิจัยออกสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมระดมความคิดเห็นในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย ววน. ทั้งการวิจัยพื้นฐานและขั้นแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ นอกจากนี้สกสว. ยังมีแผนที่จะจัดเวทีประชุมร่วมกับกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ในโอกาสถัดไป เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยข้อเสนอแนะจากการประชุมจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในระยะยาวต่อไป