“61 ปี วว.” ขับเคลื่อน วทน. สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชนและประเทศชาติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก้าวสู่การดำเนินงานครบรอบ 61 ปีเต็ม ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เป็นก้าวที่มั่นคงและยั่งยืนในฐานะหน่วยงานชั้นนำในการวิจัยพัฒนาและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ พร้อมเป็นกลไกร่วมส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
วว. มุ่งเน้นการสร้าง ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) และโครงสรางพื้นฐาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ “วว. JUMP” ที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการให้บริการแบบ One Stop Service ออนไลน์ 24 ชั่วโมง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
โดยนำ วทน. เข้าไป แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI for Total Solutions) มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น
บนเส้นทางการดำเนินงานของ วว. กว่า 60 ปีนั้น มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงาน ตอบโจทย์ ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศและพี่น้องประชาชน ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในทางปฏิบัติให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ วว. เป็นองค์กรแกนหลักที่สร้าง Impact ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ในบริบทการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการ OTOP SMEs วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ผ่านโครงการสำคัญๆ อาทิเช่น
1) โครงการ Quick win : Up-Skill Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว. สามารถเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กว่า 1100 คน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจพื้นที่ ในสาขาที่ประเทศต้องการ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นรูปธรรม
2) โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยการสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มุ่งเน้นให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี และขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนารูปแบบโมเดลแก้จน คือ “สร้างธุรกิจใหม่ - Up Skill - เพิ่มรายได้”
3) โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Area based) ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เน้นการลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ สมุนไพรและพืชอัตลักษณ์ อาทิ จังหวัดน่าน เพิ่มมูลค่าสมุนไพรและมะม่วงหิมพานต์ เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.79 รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 62.22 พื้นที่จังหวัดเลย นนทบุรี เชียงใหม่ ลำปาง รวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 ราย ในรูปแบบเครือข่ายคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี
4) โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น ทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพ ในพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 5500 คน สร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 30 นวัตกรรม เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่า 48 ล้านบาท
5) โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยจัดสร้าง “ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย” ณ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ช่วยแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ วว. ในก้าวต่อไป มุ่งเน้นในกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลก ดังนี้
- วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศ
- วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
- เร่งการพัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบมูลค่าสูงที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดการส่งวิเคราะห์ทดสอบต่างประเทศของผู้ประกอบการ
- ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรรม พร้อมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรคู่ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันให้สำเร็จ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การดำเนินงานของ วว.ในอนาคต ในบทบาทการเป็นองค์กรส่งเสริมและเป็นแกนหลักที่จะทำให้ภาคประชาชน OTOP SMEs ประสบผลสำเร็จ มุ่งนำ วทน. ไปเสริมสร้างผลิตภาพการผลิตให้ดีขึ้น สร้างนวัตกรรม ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม value added … value creation ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักทางรายได้ คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนมีความเท่าเทียม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายใต้บริบทและวัฒนธรรมขององค์กรในการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างโอกาสแก่บุคลากรในองค์กร โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งการกระตุ้นให้บุคลากรมีแรงบันดาลใจ มีความสบายใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน เปี่ยมด้วยศักยภาพและพร้อมรับพลวัตรการเปลี่ยนแปลง อันจะนำพาให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่กำหนดและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน และรวดเร็ว
“...มุ่งเน้นการดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการวิจัยที่มี Technology Roadmap ขององค์กรเป็นตัวนำและทำต่อเนื่อง เป็นผลงานสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ 60% และฐานองค์ความรู้ 40% โดยมีแนวทางที่ชัดเจนว่างานวิจัยของ วว. ต้องมีผู้นำไปใช้เกิดขึ้นให้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม และเป็น market driven มากขึ้น ต้องไม่อยู่บนหิ้ง นอกจากนี้ วว.ให้ความสำคัญในการมุ่งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้กับ ผู้ประกอบการ SMEs OTOP และประชาชน อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นอกจากนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า การสร้างเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ เอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) จะเป็นกลไกสำคัญที่ วว. จะดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองความต้องการตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology) และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
วว. พร้อมเป็นที่ปรึกษาและให้บริการวิจัยพัฒนา บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP”