“ศุภมาส” ปาฐกถาพิเศษ ในเวทีประชุมวิชาการสมรรถนะด้านพลังงานระหว่างประเทศ ปี 67 (ERC Forum 2024) ชูนโยบาย “อว. For EV” หัวใจสำคัญนำไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Science and Technology for Energy Transition” ในประชุมสัมมนาเชิงวิชาการสมรรถนะด้านพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี2567 (ERC Forum 2024) ภายใต้หัวข้อ“ Renewable and Sustainable Energy Transition” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระหว่างวันที่16–17 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับความสนใจจากผู้แทนองค์กรกำกับกิจการพลังงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานด้านพลังงานระดับสากลทั้งภาครัฐ และเอกชน และประเทศสมาชิกองค์กรกำกับดูแลพลังงานระหว่างประเทศ (Energy Regulators Regional Association: ERRA) เข้าร่วมเวทีสัมมนากันอย่างคับคั่ง
ทั้งนี้ การปาฐกถาพิเศษดังกล่าวถือเป็นการสื่อสารนโยบาย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค หรือ EV Hub โดยกำหนดนโยบายที่ท้าทาย (30@30) ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของไทย ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งกระทรวง อว. ได้ประกาศ นโยบาย “อว. For EV” สนับสนุนและขับเคลื่อนแผนตามนโยบาย EV ของรัฐบาล
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลากหลายมิติ ตัวอย่างหนึ่ง คือ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยกำหนดนโยบายที่ท้าทาย 30@30 โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของไทย ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งนโยบายนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความเอาจริงเอาจัง ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ในวงกว้าง เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศของประเทศ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักของประเทศ มีหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง ร่วมกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวง อว. ได้ประกาศ นโยบาย “อว. For EV” ซึ่งสนับสนุนนโยบาย EV ของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รมว.อว.กล่าวต่อว่า นโยบาย “อว. For EV” วางกรอบการทำงานออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. EV-Innovation: กระทรวง อว. กำลังลงทุนเชิงกลยุทธ์ ในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ด้วยการให้ทุนวิจัย สำหรับการพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จ การนำส่งไฟฟ้า เป็นต้น 2. EV-HRD: กระทรวง อว. ได้ริเริ่มผลิตกำลังคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดหลักสูตรการศึกษาและการอบรมที่มุ่งเน้นด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการวางแผนการคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน 3. EV-Transformation: กระทรวง อว. ได้นำร่องปรับเปลี่ยนการใช้ยานยนต์สันดาปมาเป็น EV ภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวง ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าการริเริ่มนี้ จะเป็นจุดเริ่ม ของการขยายการใช้งานไปทั่วประเทศ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถ EV อย่างแท้จริง
“ขอขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อหารือร่วมกัน สร้างความร่วมมือ และเร่งสร้างพลังงานสะอาดให้เพียงพอสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายยิ่งในเวลานี้ และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และกลยุทธ์ต่าง ๆ ด้านพลังงาน เพื่อความยั่งยืนต่อไป” นางสาวศุภมาส กล่าว
นอกจากนี้ในเวทีสัมมาเชิงวิชาการสมรรถนะด้านพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี 2567 (ERC Forum 2024) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้รับเชิญให้เป็นประธานการเสวนาในหัวข้อ Future Technology Trends towards Energy Transition โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายนรินทร์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด นายสุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส การพัฒนาธุรกิจ (ประเทศไทย) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ดร.ปกรณ์ เทพรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ดร.จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) และ ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช.