เมื่อ : 10 พ.ค. 2567 , 144 Views
ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จ “BCG Model” นำร่อง 10 กิจการ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2000 ตันต่อปี พร้อมขยายผลปี 67 เตรียมเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้

กรุงเทพฯ 9 พฤษภาคม 2567 - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม นำร่อง 10 กิจการ ดันผลสำเร็จผู้ประกอบการ SMEs ไทยผ่านโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้กลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ให้สามารถพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการโดยมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง (Upcycling) ตลอดจนสามารถบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 60 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 2000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี พร้อมเตรียมเปิดตัวโครงการปี 2567 ในเดือนมิถุนายนนี้

 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลัก
มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล โดยประเทศไทยได้แสดงจุดยืน
ประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
(Net Zero) ภายในปี 2608 จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ (BCG Model) ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต

 

นายภาสกร กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สามารถ
ยืนหยัด รับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโต


อย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ผ่านโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการโดยมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง (Upcycling) โดยที่ผ่านมาสามารถนำร่องและยกระดับผู้ประกอบการจำนวนกว่า 10 กิจการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วมากกว่า 2000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดีพร้อม นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินธุรกิจ

 

ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย แนวคิดทางเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่
1. Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (สมุนไพร ซูเปอร์ฟู้ด
เส้นใย) รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจ
2. Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่ Zero Waste
3. Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 10% และเชื่อมโยงสู่การขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (CFO CFP)


ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่า โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นหนึ่ง
ในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission โดยในปี 2567
ดีพร้อมตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 1800 ราย และเตรียมเปิดตัวโครงการในเดือนมิถุนายนนี้
เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย


สำหรับผู้ประกอบที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. : 0 2430 6869 กด 6 อีเมล bcgbydiprom@gmail.com

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ