วช. รำลึกถึง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” สะท้อนผ่านนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราว 10 ปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่ ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรำลึกถึง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนาในหัวข้อ “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” และผู้เชี่ยวชาญด้านภัยธรณีพิบัติมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมทั้งนิทรรศการพิเศษแผ่นดินไหว ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ซึ่งมี รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย ให้การต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ดร.วีระชาติ วิเวกวิน กรมทรัพยากรธรณี นางอรภา สอาดเอี่ยม ตัวแทน จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 จ.เชียงราย เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยากต่อการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำ แม้ว่าปัจจุบันจะมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จ.เชียงรายได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับคนในพื้นที่และประชาชนทั้งประเทศ กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทย แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่มีศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมากแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ทั้งภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์และสั่นสะเทือนจิตใจของประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่เเสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์เเละวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัย ได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”
ถัดมา กิจกรรมภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนาในหัวข้อ “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลความรู้ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ดังนั้นจึงควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดของแผ่นดินไหวที่แท้จริงและการซักซ้อมแผนเพื่อรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวเพื่อเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ นิทรรศการพิเศษ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” แบ่งโซนนิทรรศการออกเป็น 3 โซน ดังนี้ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์ และ นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี