“เสริมศักดิ์” จับมือจังหวัดสมุทรปราการส่งท้ายงานมหาสงกรานต์ 2567 ยิ่งใหญ่งดงาม มุ่งเน้นสืบสานประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยรามัญ อนุรักษ์ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทยชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและประเทศ
(เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 67 เวลา 15.30 น.) กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดสมุทรปราการ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 18 - 21 เมษายน 2567 โดย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน นายประทีป นทีทวีวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง ผู้บริหารส่วนจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมและเครือข่าย สื่อมวลชน ประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน ณ ปะรำพิธีเทศบาลเมืองพระประแดง หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
นายเสริมศักดิ์ ประธานกล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามของไทยและเป็นพลังขับเคลื่อนสนับสนุน “ซอฟต์เพาเวอร์” กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย อีกประการหนึ่ง ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี พ.ศ. 2566 โดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งสงกรานต์พระประแดงเป็น 1 ใน 5 แห่ง ที่เป็นต้นแบบของสงกรานต์ในประเทศไทย ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ใช้เป็นข้อมูลนำเสนอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก แสดงให้เห็นว่าประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญพระประแดง มีคุณค่า สมควรที่ทุกคนจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์สืบสานให้เป็นมรดกวัฒนธรรม เผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป
รมว.วธ. กล่าวต่อ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็นประเพณีที่ได้รับการกล่าวขานยกย่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอย่างมาก ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัว สร้างรายได้ให้ชุมชนในท้องถิ่น และธุรกิจการท่องเที่ยวในภาพรวม ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และขอยกย่องชื่นชม เทศบาลเมืองพระประแดง พี่น้องประชาชนชาวพระประแดง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดงานครั้งนี้ ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน ขับเคลื่อนประเพณีสงกรานต์พระประแดง สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ “คุณค่า” ของสงกรานต์พระประแดงสร้างความประทับ ปิดท้ายงานมหาสงกรานต์ ประจำปี 2567 ได้อย่างงดงามยิ่ง
ด้าน นางจิระพร เปิดเผยว่า ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกกันว่า งานสงกรานต์ปากลัด เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ตามประเพณีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่างๆ และมีการปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามบ้านเรือนต่าง ๆ
นายกเทศมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์ จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การมีขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมด้วยขบวนแห่นก แห่ปลา ที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตาที่หลายหน่วยงาน/หมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น สงกรานต์พระประแดงนั้นเป็นที่สนุกสนานยิ่งนักและเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วประเทศ ถึงความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผชาติ ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับกิจกรรมภายในงานระหว่างวันที่ 18-21 เม.ย. 67 ประกอบด้วย นิทรรศการประเพณีสงกรานต์ในไทย "ในโอกาสที่ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโก UNESCO สงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย การละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) การแสดงพื้นบ้าน ขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผชาติ ขบวนแห่นก ขบวนแห่ปลา การแสดง ตำนานสงกรานต์พระประแดง การสาธิตการกวนกะละแมของดีเมืองพระประแดง และการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง จ๊ะ นงผณี อาร์สยาม ณ หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง และบริเวณใกล้เคียงในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
#มหาสงกรานต์2567 #ประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย #มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
#SongkraninThailand #สงกรานต์พระประแดง #สงกรานต์รามัญ #สมุทรปราการ
#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #ยูเนสโก