เมื่อ : 21 เม.ย. 2567 , 565 Views
3 สมาคมฯ จับมือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ร่วมป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำ” ถอดบทเรียนการระบาดของศัตรูมะพร้าวสู่เกษตรกรด้วยวิธีผสมผสาน (IPM)

สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เข้าร่วมงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ อาคารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านหินเทิน ตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมส่งมอบสารเคมีที่ได้รับการแนะนำโดยกรมวิชาการเกษตรนำไปใช้ในพื้นที่ระบาดรุนแรง 500 ไร่ พร้อมอุปกรณ์และชุดป้องกันสารจำนวน 100 ชุด ให้แก่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งสั่งการหน่วยงานแก้ไขปัญหาการระบาดศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน (IPM)  โดยป้องกันและกำจัดหนอนดำมะพร้าว ด้วยการผสมผสานระหว่างการใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบ และเจาะเข้าลำต้น เพื่อยับยั้งการระบาด ควบคู่ปล่อยแตนเบียนเพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่กำลังได้รับความเดือดจากการระบาดของแมลงศัตรูพืช ในโอกาสนี้ ได้สั่งการให้พิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการใช้งบประมาณจัดซื้อสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช พร้อมให้กรมชลประทานและและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนที่น้ำตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งให้จัดทำฝนเทียมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดและเกิดภัยแล้ง
 

นางนงนุช ยกย่องสกุล ผู้อำนวยการสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมลงพื้นที่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่ 8 อำเภอครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เห็นถึงปัญหาการระบาดของศัตรูมะพร้าวของชาวสวนอย่างตรงจุด และต้องให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวอย่างถูกต้อง

 

นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า การแพร่กระจายของหนอนหัวดำเพิ่มจำนวนตลอดทั้งปี ควรต้องสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในการจัดการศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง พร้อมทำการประเมินประชากรศัตรูมะพร้าวอยู่เสมอ เพื่อสามารถควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวได้ทันท่วงที ในการลดความเสียหายของผลผลิต

 

กรมวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมและให้คำแนะนำการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ดังนี้

 

สำหรับพื้นที่ระบาดปานกลางและรุนแรง มี 2 วิธีการ คือ 1.การฉีดสารเข้าลำต้น ด้วยสารอิมาเมกตินเบนโซเอท 1.92% EC อัตราการใช้ 30 มิลลิลิตร/ต้น (โดยใช้สว่านเจาะรูที่ลำต้นให้สูงจากพื้นดิน 1 เมตร เอียงลง 45 องศา ลึก 10-15 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงข้ามกันและต่างระดับกันเล็กน้อย) 2. การฉีดพ่นทางใบ สำหรับต้นมะพร้าวต้นเล็กอายุ 1-2 ปี ที่เจาะไม่ได้เนื่องจากมะพร้าวไม่มีลำต้น (สะโพก) แนะนำให้พ่นด้วยสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 15 วัน จำนวน 2 ครั้ง ฟลูเบนไดไมด์ 20% WG อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพื้นที่ระบาดน้อย แนะนำวิธีการพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์บีทีอัตรา 100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตรพ่นทุก 15 วัน จำนวน 2 ครั้ง โดยสารบีทีที่ผสมแล้ว 20 ลิตร สามารถพ่นได้ 4 ต้น (แนะนำพ่นต้นละ 5 ลิตร) หลังจากนั้นใช้ชีววิธี ปล่อยแตนเบียนบราคอน และแตนเบียนโกนิโอซัส ในช่วงเวลาเย็น อัตรา 200 ตัวต่อไร่ ปล่อยให้กระจายทั่วแปลงทุก 15 วัน จำนวน 200 ตัวต่อไร่ ทุกเดือน และแตนเบียนบราไคมีเรีย จำนวน 120 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ต่อเนื่อง 1 เดือน หลีกเลี่ยงการปล่อยแตนเบียนในวันที่ฝนตก อีกทั้งมีการนำนวัตกรรมโดรนเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวต้นที่สูงไม่ถึง 4 เมตร ที่ไม่สามารถเจาะเพื่อฉีดสารเคมีเข้าลำต้นได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรมากขึ้น

 

ด้าน 3 สมาคมฯ หลังจากลงพื้นที่ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและการถอดบทเรียนแก่เกษตรกรให้ทราบถึงการระบาด จนนำมาสู่การป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน (IPM) อย่างถูกวิธี พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ อีกทั้งสนับสนุนทำงานร่วมกับผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมโดรน เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวในหลายพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป