ปูนซีเมนต์นครหลวง หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย ภายใต้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (ที่ 4 จากขวา) พร้อมด้วย นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง (ที่ 4 จากซ้าย) และคณะผู้บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เข้าพบนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ที่ 3 จากขวา) เพื่อรายงานให้ทราบถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยได้มีการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” มาตรฐาน มอก. 2594 ในกลุ่ม INSEE แล้ว ซึ่งถูกกำหนดเป็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง ตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยมี นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ที่ 1 จากขวา) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำให้ภาคการผลิตเตรียมระบบการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำตามมาตรฐานอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้สอดรับกับกติกาใหม่ของโลก โดยมอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาผลกระทบต่อผู้ผลิตปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้น้อยที่สุด
นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย ภายใต้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างต่อเนื่องในทุกกิจกรรมของบริษัทฯ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันกับชุมชน สังคม และกับทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี พ.ศ. 2573 (INSEE Sustainability Ambition 2030)
“ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อการบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของกลุ่มบริษัทให้ได้ต่ำกว่า 470 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตัน ดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green product) เข้าไปในพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งปูนซีเมนต์นครหลวงเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนตลาดเปลี่ยนจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 เป็นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในรูปแบบถุง 100% ตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้แบรนด์ “อินทรีเพชรพลัส” และ “ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow” อีกทั้งได้รับการเผยแพร่ฉลากสิ่งแวดล้อม EPD (Environment Product Declaration) ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (ISO14025) จาก The International EPD® System เป็นโปรแกรม EPD ระดับโลก ภายใต้มาตรฐานปูนซีเมนต์ระดับโลก ซึ่งการคำนวณทั้งหมดใช้เครื่องมือตามมาตรฐานระดับสากล ที่พัฒนาขึ้นโดย Global Cement and Concrete Association (GCCA) สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และส่งผลดีต่อสภาพอากาศที่ดีในระยะยาว รวมทั้งการเพิ่มจำนวนต้นไม้เพื่อทดแทนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์"
ปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นหนึ่งผู้นำในการผลักดันเพิ่มระดับการทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ดแลนด์ที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงด้วยปูนซีเมนต์ไฮโดรลิกที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำในประเทศไทย โดยประสบความสำเร็จในการทดแทนปูนซีเมนต์ไฮโดรลิกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด และร้อยละ 80 ในภาคอุตสาหกรรม