เมื่อ : 28 มี.ค. 2567 , 181 Views
วช. จับมือ รร.กฎหมายและการเมือง ม.สวนดุสิต ผลักดันธรรมาภิบาลในท้องถิ่น ผ่านกลไกต่อต้านการติดสินบน

วันที่ 27 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดการประชุมแผนงานวิจัย เรื่อง “การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบน: กรณีการขอใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารของเทศบาลนคร” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และผู้บริหารจัดการแผนงาน กล่าวรายงาน และวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนงานวิจัย อีกทั้งมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม ACM Line LIFF และคู่มือแนวทางการจัดการต่อต้านการติดสินบน: กรณีการขอใบอนุญาตก่อสร้าง เสวนาวิชาการในหัวข้อธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี: กรณีเทศบาลนคร” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากูล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ณ TK.Palace Hotel & Convention กรุงเทพมหานคร

 

นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมีพันธกิจหลักประการหนึ่ง ในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ที่ต้องการจะยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของแผนงานการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบน: กรณีการขอใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารของเทศบาลนครถือเป็นงานวิจัยที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่า CPI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการจัดการต่อต้านการติดสินบนและการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

 

ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์  คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และผู้บริหารจัดการแผนงาน ได้กล่าวถึงความสำคัญในการเผยแพร่การดำเนินงานผลงานวิจัยว่า เนื่องจากผลการสำรวจและค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (WEF) ในปี 2564 ได้ 42 คะแนน ปี 2565 ได้ 45 คะแนน และในปี 2566 ได้ 36 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) ซึ่งจากผลการสำรวจขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ในการก่อสร้างอาคารนับเป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ค่า CPI ใน WEF มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนงานและการเปิดเผยข้อมูล แบบโปร่งใสตรวจสอบได้ จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนงานดังกล่าวขึ้น แผนงานวิจัยเรื่อง การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบน: กรณีการขอใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารของเทศบาลนคร โดยแบ่งออกเป็น โครงการย่อย 3 โครงการ ดังนี้

 

1. การศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลด้วยระบบและกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบนของเทศบาลนคร
2. แนวทางในการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การติดสินบนและการเปิดเผยข้อมูลของเทศบาลนคร
3. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการต่อต้านการติดสินบนของเทศบาลนคร เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและสอดส่องการคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความโปร่งใสเกิดการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

 

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากูล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี: กรณีเทศบาลนคร” จะเห็นได้ว่า ธรรมาภิบาล ในภาคราชการเรียกว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ถือเป็นหลักของการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับประชาชน ซึ่งธรรมาภิบาลกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบด้วย 10 หลัก คือ  หลักการตอบสนอง หลักประสิทธิผล หลักประสิทธิภาพ หลักความเสมอภาค หลักมุ่งเน้นฉันทามติ หลักการตรวจสอบได้ หลักโปร่งใส หลักการกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม และหลักนิติธรรม เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองความสงบเรียบร้อยของสังคม ความผาสุก ประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า งานวิจัยเรื่อง การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบน: กรณีการขอใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารของเทศบาลนคร จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน