เออาร์วีพาชมบทบาท “ผู้หญิงกับการรันวงการเอไอและหุ่นยนต์” ความล้ำหน้าที่ได้มากกว่าเทคฯทันสมัย พร้อมอาวุธชิ้นใหญ่ในการสร้างตัวตน ให้เป็นที่ยอมรับ และรุ่งในวงการเทคโนโลยี
ประเด็นผู้หญิงกับวงการเทคโนโลยี มักถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้ง ด้วยลักษณะอาชีพที่ถูกมองว่าให้ผู้ชายเหมาะกว่า แต่ในยุคปัจจุบันที่มีการตอกย้ำเรื่องความเท่าเทียม ทำให้ทุกคนเข้าใจและมีภาพจำที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการทลายกำแพงความแตกต่างทางเพศจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และวันนี้องค์กรด้านเทคโนโลยีอย่าง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี จึงอยากพาไปเจาะลึก พูดคุยการทำงานของผู้หญิงในวงการเทคโนโลยี กับ คุณเบล-พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ที่พร้อมจุดประกายความฝันและสร้างแรงบันดาลใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้กับทุกคนได้ก้าวไปกับความจริงที่ว่า ‘ไม่ว่าเพศไหนก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่คุณมีความเชื่อมั่น’
จากการมองการณ์ไกล และเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกน่าอยู่ด้วย Sustainable Tech
คุณเบล-พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กับประสบการณ์การทำงานในสายเทคฯ มากกว่า 10 ปี เล่าว่า แรงบันดาลใจในการเข้าสู่วงการเทคฯ มาจากการตระหนักที่ว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ และบุคลากรวัยทำงานก็มีอัตราลดน้อยลงทุกวัน ๆ จึงเริ่มมองหาโซลูชันที่จะทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่พวกเราอาจมองข้ามไป คือ การมีสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี เพราะปัจจุบันพบว่า ปัญหา PM 2.5 ในปี 2566 กรุงเทพมหานคร มีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า ที่มีอากาศดี 49 วัน ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 นับเป็นอีกภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มสนใจใน Sustainable Technology เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ผ่านการผลักดันเป้าหมาย ‘Net Zero Emission’ หรือ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อสร้างสมดุลให้กับสภาพแวดล้อม อันเป็นส่วนสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของภูมิอากาศโลก
ทำลายอุปสรรคของผู้หญิงในวงการเทคฯ สู่ผู้นำทีมสายสตรอง
พณัญญาเปิดเผยความท้าทายในวงการเทคฯ ว่า โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักมีความเชื่อคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งว่า “ผู้ชายเหมาะกับเทคโนโลยีมากกว่า” ดังนั้นงานด้านเทคโนโลยี งานด้านวิศวกรรม รวมทั้งงานช่างประเภทต่าง ๆ มักถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชายแบบแทบจะผูกขาด หากดูตัวเลขในตลาดแรงงานแล้ว ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือแม้แต่ประเทศไทยเอง งานเหล่านี้ก็ยังมีสัดส่วนของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ตนเองกลับมองว่ามันคือความท้าทายที่น่าสนุก และมีความกดดันไปพร้อม ๆ กัน แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ ทำให้สามารถนำทีมและองค์กรได้ในที่สุด
พณัญญาทิ้งท้ายในเรื่องราวความท้าทายในการเป็นผู้บริหารสายเทคฯ ว่า แม้ว่าตนจะเป็นผู้บริหารหญิงที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่มีความคิดเห็นว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นวงการที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ ๆ อย่างมากอีกวงการหนึ่ง เพราะเราจะต้องสร้างระบบหรือนวัตกรรมที่ไม่มีตัวอย่าง ดังนั้นหัวคิดที่กล้าที่จะออกจากกรอบ มองภาพในอนาคตอย่างชาญฉลาด และนำเสนอสิ่งใหม่อยู่เสมอเป็นอุปนิสัยที่พึงมี และขอฝากถึงน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาเป็นครอบครัววงการเทคฯ ว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องของทุกคน ขอแค่เรากล้าที่จะเชื่อว่าเราสามารถทำได้ และไม่ว่าเพศอะไรก็สามารถเข้ามาทำงานในสายนี้ได้ เพราะปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเทคฯ ของต่างประเทศเข้ามาโจมตีประเทศไทยมากขึ้น อาทิ รถไฟฟ้า พร้อมเน้นย้ำว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยคน ๆ เดียวได้ ทุกคนจะต้องช่วยกันในการขับเคลื่อน และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ดังนั้น คนรุ่นใหม่จะเป็นแรงสำคัญที่จะมาเป็นแรงร่วมในการผลักดันให้ธุรกิจและสังคมมีการพัฒนาต่อไป
จะเห็นได้ว่า คุณเบล-พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เธอไม่เพียงแค่เป็นตัวอย่างในการบริหารงานและเป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดโลกร้อน ช่วยปลูกป่า การประเมินเฝ้าระวังที่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่า และการสร้างคาร์บอนเครดิตเท่านั้น เธอยังโชว์ศักยภาพความแข็งแกร่งของผู้หญิงที่สามารถสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ตรงใจคู่ค้ามากที่สุด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและบริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและสังคมได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ตรงใจที่สุด
สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก AI and Robotics Ventures (https://www.facebook.com/arv.th) หรือโทร. 02 078 4000