เมื่อ : 20 มี.ค. 2567 , 142 Views
เปิดรายงาน “Thairath Sustainability Report 2024”  พบสถิติหน่วยงานเพียง 12% ทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย พร้อมเผยมุมมอง ผู้นำองค์กรภาครัฐ-เอกชน ชั้นนำของประเทศ ด้านความยั่งยืนของไทย

ไทยรัฐกรุ๊ป เปิดรายงานหนังสือฉบับพิเศษ “Thairath Sustainability Report 2024” ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ แนวคิดและกลยุทธ์ความยั่งยืนจากผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรชั้นนำ และอาจารย์จากภาควิชาการที่เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดเรื่องราวความยั่งยืนให้กับประชาชน ภายใต้แคมเปญ Future Perfect ‘อนาคตที่ยั่งยืน’  ซึ่งถูกครีเอทขึ้นบนพื้นฐานปณิธานของไทยรัฐกรุ๊ปที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมมาตลอดกว่า 75 ปี 

 

 

นาวสาว จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึงการจัดทำรายงาน Thairath Sustainability Report 2024 ภายใต้แคมเปญ Future Perfect  ‘อนาคตที่ยั่งยืน’ นี้ว่า เป็นรายงานเล่มแรกที่ได้รวบรวมและเชื่อมโยงองค์ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนและวิสัยทัศน์ของผู้นำทางความคิดจากหลายภาคส่วนมาผสานกัน เพื่อส่งต่อให้ประชาชนคนไทยได้มีความเข้าใจในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ ศึกษา ต่อยอด รวมถึงการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสู่อนาคตที่ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น เพราะความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้นอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่ยังมีความยั่งยืนในมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“จะเห็นได้ชัดว่าทุกองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของผู้คน สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆกัน การเพิ่มผลกำไรสูงสุดไม่ใช่หนทางที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ในระยะยาว แต่การที่จะทำให้องค์กรคงอยู่ได้นั้นต้องมีความสมดุลร่วมกันในทุกด้าน จึงจะทำให้เกิด Future Perfect หรืออนาคตที่ยั่งยืนได้จริง” 


ทั้งนี้ในรายงาน “Thairath Sustainability Report 2024” เผยถึงความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าโลกกำลังเผชิญกับจุดหักเหสำคัญที่เรียกว่า ‘Watershed Moment’  ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอมาคือ ความยั่งยืนไม่ได้อยู่แค่ในมิติของสิ่งแวดล้อม หลายคนตกหลุมพรางของ “การฟอกเขียว” หรือ Greenwashing ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายแนวทางปฏิบัติที่หลอกลวง ในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ ในขณะที่แนวทางปฏิบัติจริงอาจไม่สอดคล้องกับคำกล่าวดังกล่าว และสำหรับคำว่า “ความยั่งยืน” ของ ไทยรัฐ เองไม่ใช่สิ่งที่เราเพิ่งมาใส่ใจ แต่เป็นทั้งกลยุทธ์ในการเติบโตและเป็นค่านิยมหลักขององค์กรที่เรายึดมั่นเสมอมาซึ่งหากเราได้อ่านวิสัยทัศน์และสิ่งที่แต่ละองค์กรในหนังสือเล่มนี้ได้ลงมือทำแล้วนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเลยที่จะทำแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยละเลยมิติอื่นๆของความยั่งยืน ทั้งเรื่องสังคม การกำกับกิจการที่ดี และการคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวธุรกิจเองด้วย นาวสาว จิตสุภา กล่าว 

 

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนึ่งในผู้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ได้ให้ข้อมูลในหัวข้อ ‘รัฐบาลเพื่อความยั่งยืน สู่อนาคตที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ โดยระบุว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 12 ที่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ปี 2030 จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยสามารถระดมเงินได้มากกว่า 1.25 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาระบบขนส่งใต้ดินใหม่ ไปจนถึงการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และส่งเสริมโอกาสการลงทุนใหม่ๆเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในทุกภาคส่วนของประเทศไทย

 

ในส่วนมุมมองของ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรทั้งสามด้าน หรือ Triple Bottom Line ที่ประกอบด้วย People Planet และ Profit ซึ่งหากสามารถดำเนินธุรกิจตามหลัก 3P นี้ได้ก็จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในเรื่อง การขจัดความยากจน และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  สำหรับทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับองค์กรที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับหลักการ CSV (Creating Shared Value) 


ดร.วิรไท สันติประภพ เลขาธิการและประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถ่ายทอดแนวคิด การทำเรื่องความยั่งยืน ควรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ เพราะจะช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงขององค์กรด้วย รวมถึงการยกตัวอย่างของการบริหารจัดการลดขยะ โครงการผลิตคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนทั่วประเทศที่ได้ดำเนินไปแล้วกว่า 150000 ไร่


นอกจากนี้ นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  ให้วิสัยทัศน์ในเรื่อง การดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับโลก พร้อมไปกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาด้านการศึกษา สุขอนามัย และเศรษฐกิจของชุมชน


อย่างไรก็ตามรายงานดังกล่าวยังมีผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำที่มาร่วมเผยองค์ความรู้ในการสร้างความยั่งยืน ถ่ายทอดผ่านรายงาน Thairath Sustainability Report 2024 เล่มนี้ด้วยกัน ได้แก่ นายบันเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล นายอภิชาติ ชูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี และ รศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล หัวหน้าภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือรายงาน Thairath Sustainable Report 2024  นี้ได้ทางhttps://www.thairath.co.th/futureperfect/thairath_sustainability_report