สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติและความพร้อมของดาวเทียมธีออสสองเอ ก่อนนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567
ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 09.33 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติและความพร้อมของดาวเทียมธีออสสองเอ ก่อนนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรี เฝ้ารับเสด็จ
ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ สร้างขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือธีออสสอง เป็นศูนย์ที่มีมาตรฐานระดับสากลและมีความทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการสร้าง การประกอบ และการทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลกรัมถึง 500 กิโลกรัม และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคตด้วย ภายในศูนย์ยังมีห้องวิจัยและพัฒนาระบบดาวเทียม ห้องสะอาดควบคุมอนุภาค และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือทดสอบสภาวะต่างๆของชิ้นส่วนดาวเทียม ได้แก่ การทดสอบการสั่นสะเทือน การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ และ การทดสอบคุณสมบัติของมวล เป็นต้น ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทดสอบในอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคธุรกิจจากต่างประเทศ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในห้องสะอาดควบคุมอนุภาค หรือคลีนรูม ทรงฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการทดสอบระบบดาวเทียมธีออสสองเอ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับอินดัสเตรียลเกรดดวงแรกของประเทศไทยที่วิศวกรชาวไทยกว่า 20 คนร่วมออกแบบและพัฒนา โดยมีการนำชิ้นส่วนวัสดุที่ผลิตขึ้นจากผู้ประกอบการในประเทศไทยติดตั้งและประกอบบนตัวดาวเทียมธีออสสองเอ ถือเป็นการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ดาวเทียมธีออสสองเอจะโคจรในระดับความสูง 520 กิโลเมตรจากพื้นโลก ตัวดาวเทียมมีน้ำหนัก 101.5 กิโลกรัม ความละเอียดภาพ 1.07 เมตร สามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอสำหรับการติดตามพื้นที่และการศึกษาข้อมูลเชิงลึกได้ มีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 3 ปี เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการการจัดการชุมชนเมือง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ จุดเด่นของดาวเทียมธีออสสองเอคือมีระบบเรดาร์ สำหรับการติดตามเรือและเครื่องบินด้วย สำหรับดาวเทียมธีออสสองเอมีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ด้วยจรวดนำส่งพีเอสเอลวี จากศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย
จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของกาแลคซี่ ซีมูเลชั่น เซ็นเตอร์ และทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบและระบบวิศวกรรมดาวเทียม การพัฒนาซอฟแวร์คอบคุมการปฏิบัติการดาวเทียม และการให้บริการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งเป็นการให้บริการนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย
จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการสาธิตระบบรถไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ จีเอ็นเอสเอส ที่ช่วยลดการพึ่งพามนุษย์ในการใช้งาน มีความแม่นยำสูง ประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ จีเอ็นเอสเอส น่าจะมีการผลิตเข้าสู่ตลาดโลกเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ ทรงฟังบรรยายสรุปการพัฒนาระบบด้านสเปซเซฟตี้แอนด์ซีเคียวริตี้ ซึ่งประกอบด้วย ระบบเฝ้าระวังและติดตามวัตถุอวกาศ ระบบการจัดการจราจรอวกาศ ระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการดำเนินโครงการลิควิดคริสตัลที่วิจัยและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา
นอกจากนี้ ยังทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมธีออสสอง ตลอดจนดาวเทียมดวงอื่นๆที่ประเทศไทยรับสัญญาณเอง และการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย การพัฒนาวัสดุและโครงสร้างของอากาศยานและอวกาศยาน ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการทดสอบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับ เทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย และนิทรรศการกิจการอวกาศรวมถึงแผนการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย ภายในโถงรับรอง
โอกาสนี้ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารและผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินออกจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจอื่นๆ ต่อไป