“ศุภมาส” ดัน มรภ.ศรีสะเกษ ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) โดยมี รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ คณาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมพระยาไกรภักดี ชั้น 2 ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.ศรีสะเกษ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีการดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โดยกระทรวง อว. มีภารกิจในการสร้างกำลังคน ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกต่างส่งเสริม Life Long Learning ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่พื้นที่ของคนอายุ 19-23 ปี แต่จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย นำไปสู่ คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) สำหรับผู้คนที่ต้องการ Upskill พัฒนาทักษะเดิม และ Reskill เพิ่มเติมทักษะใหม่ ยกระดับพื้นฐานความเป็นอยู่ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมุ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีความสุข มีรายได้ระหว่างเรียน โดยให้มีการจัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียนควบคู่ไปกับการทำงานในสถานที่จริง ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการในท้องถิ่น เพื่อเป้าประสงค์ให้บัณฑิตสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดปัญหาในด้านของการว่างงานอนาคตด้วย นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีหน่วยงานภายในที่ดูแลด้านงบประมาณการวิจัย โดยมุ่งผลักดันการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการดำเนินการจริง ให้วิจัยไม่ได้อยู่เพียงแค่บนหิ้ง แต่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
“กระทรวง อว. ยินดีสนับสนุน มรภ.ศรีสะเกษในทุกด้าน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการผลิตบัณฑิตออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง” รมว.อว. กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประกาศิต กล่าวว่า มรภ.ศรีสะเกษ มีการดำเนินงานตามวัฒนธรรมองค์กรที่ว่า “ความรู้คู่คุณธรรม น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาท้องถิ่น มีความมุ่งหวังที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม สามารถรับใช้สังคม ชี้นำชุมชนท้องถิ่นและสังคมให้ดำรงอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่มีข้อจำกัดได้อย่างเหมาะสม เป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและบริการมูลค่าสูง นำเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ทลายข้อจำกัด ให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาต่อยอด และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง