เมื่อ : 22 ก.พ. 2567 , 209 Views
“ศุภมาส” ปลื้ม “โครงการ Quick win : Up-Skill  Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.” สำเร็จเกินเป้า

 มอบหมาย  วว. - มรภ.อุดรธานี ขยายผลต่อยอดสู่ภูมิภาค 

เร่งพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ด้วย วทน. อย่างครบวงจร - ตามมาตรฐานสากล

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ต่อยอดความสำเร็จโครงการ Quick win อว. ไปสู่ภูมิภาค มุ่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ เร่งส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทาง (Specific course) การพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทดสอบ การพัฒนาวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ (พืชสมุนไพร สารสกัด) และวางแผนพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อรองรับงานพืชสวนโลกในปี 2569  

 

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ  วว. กล่าวว่า  การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง วว. และ มรภ. อุดรธานี เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Quick win อว. ในการ Up-Skill Re-Skill ผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ 800 ราย เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดังนั้น วว. จึงได้ร่วมกับ มรภ. อุดรธานี รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน  ดำเนินการร่วมมือแบบบูรณาการตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวง อว. ยกระดับขีดความสามารการแข่งขันของผู้ประกอบการ คุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการท่องเที่ยวและสินค้าท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรและจุลินทรีย์ อาหาร เครื่องสำอาง/เวชสำอางไทย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ  รวมทั้งจะได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ  การส่งเสริมการตลาดจากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากทรัพยากรท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืน  การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรไว้เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth) 

 

ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า วว. และ มรภ. อุดรธานี ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนดำเนินการ โดยจะร่วมเสริมสร้างภาพลักษณ์และยกระดับองค์ความรู้และทักษะ Up-Skill Re-Skill ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบุคลากร ผู้ประกอบการและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการยกระดับห้องปฏิบัติการ  พร้อมผลักดันผลงานวิจัยและการบริการวิเคราะห์ทดสอบของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างกับผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมทั้งบุคลากร หน่วยงานการศึกษา อีกทั้งยังร่วมพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตร Non degree เฉพาะทาง ที่เป็นความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนของจังหวัดและอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป

 

“...การฝึกอบรมครั้งนี้ จะเป็นการ Up-Skill Re-Skill เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับระบบมาตรฐานการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานท่องเที่ยวไทย ตลอดจนการจัดการด้านบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงผู้ประกอบการนำความรู้ด้านมาตรฐานสากลไปพัฒนาระบบบริการจัดการผลิตภัณฑ์และบริการตามมาตรฐานสากลต่อไป นอกจากบูรณาการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังจะมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ การพัฒนาบริการอุตสาหกรรม พัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดทำแผนเพื่อร่วมกันพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับงานพืชสวนโลกในปี 2569  อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการในพื้นที่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน...” ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  กล่าวสรุป 

 

อนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม“โครงการ Quick win : Up-Skill Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.” ภูมิภาค โดยความร่วมมือระหว่าง วว. และ มรภ. อุดรธานี โดยมีหลักสูตรอบรมระยะสั้นจำนวน 6 หลักสูตร ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30-12.30 น. ณ  อาคาร 17 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก วว. ร่วมบรรยายและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 20 ปี  ดังนี้ 1) หลักสูตร “ความรู้เบื้องต้นระบบบริหารจัดการคุณภาพ ISO 9001 และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ต่อการพัฒนาศักยภาพองค์กร” โดย ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม 2) หลักสูตร “ทำอย่างไร ผลิตภัณฑ์จึงได้มาตรฐานขึ้นทะเบียน อย.และ มอก.” โดย ดร.วดี วิชัยดิษฐ์ ผอ.ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา และนางสุภาพร จิรไกลโกศล ผอ.ห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา  3) หลักสูตร “การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก” โดย น.ส.รัชนีเพ็ญ เพ็ญสิทธิ์ ผอ.ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย 4) หลักสูตร “ความรู้เบื้องต้นมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและกิจกรรมลานกางเต้นท์” โดย นายเอก เอื้อตระการ ผอ.กองประเมินและรับรองผลิตภัณฑ์ 5) หลักสูตร “IoT Technology สำหรับเกษตรกรรม” โดย ดร.ประเวช กล้วยป่า ผอ.ห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 6) หลักสูตร “ความรู้ด้านการออกแบบการสื่อสารการตลาดสำคัญอย่างไร สำหรับแบรนด์หรือสินค้า” โดย ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผอ.สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากกระทรวง อว. ด้วย   

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Call Center วว.โทร. 0 2577 9000 กด 1 E-mail : ibs@tistr.or.th  LineID : ibs2217

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ