“ศุภมาส” เปิดเวทีประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 7 ถกประเด็น “การขับเคลื่อนพลังทางสังคมด้วย BCG Model สู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์” พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวม สู่กลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 7 พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนพลังทางสังคมด้วย BCG Model สู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมี ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. รศ.มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายในเรื่อง “การขับเคลื่อน Soft Power ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์รองรับการส่งเสริมความเป็นไทยสู่สากล โดย ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ณ หอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG ของประเทศ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. ก็ได้ร่วมกันดำเนินการทั้งในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการด้วยฐานนวัตกรรม การบริการโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่าย การเพิ่มขีดความสามารถของกำลังคน ตลอดจนการปรับปรุงข้อกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ เช่น โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่ บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนในลักษณะกลุ่มสินค้าของ BCG จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
รมว.อว.สำหรับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวง อว. ได้สนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ U2T หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อันนำไปสู่การเกิดผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการหลากหลาย และเป็นความภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ อาทิ ผ้าทอภูอัคนี ผ้าเชียงนวน ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เซรามิกของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีการใช้ความคิดผลิตสินค้าและบริการ ให้น่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับเทคโนโลยีและการออกแบบ ยกระดับการบริการด้วยการปรับปรุงระบบบริหารจัดการการสร้างเรื่องราวของสินค้าท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต หรือเพิ่มความชำนาญเฉพาะด้าน
“กระทรวง อว. จึงเป็นกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาบูรณาการร่วมกับ BCG Model สู่การต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสามารถก้าวเป็นผู้นำของโลกได้” น.ส.ศุภมาส กล่าว