เมื่อ : 06 ม.ค. 2567 , 144 Views
มทร.ล้านนา เปิดแผนรับนักศึกษา ปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มยอดนักศึกษา 2000 คน เดินหน้าจับมือกับสถานประกอบการ ร่วมจัดทำหลักสูตร ผลิตบัณฑิตนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ มุ่งเน้นสาขา S-CURVE อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา เปิดเผยว่า มทร.ล้านนา จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มสอง หรือมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ซึ่งแต่ละปีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ สถานประกอบการ มีความต้องการวัยแรงงานที่สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ โดยในปีที่ผ่านมา มทร.ล้านนา จึงได้ทำความร่วมมือกับสถานประกอบการกว่า 20 แห่ง เพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ในกลุ่มสาขา S-CURVE อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

“ในปีนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ ทำให้สถานประกอบการมีการจัดส่งพนักงาน บุคลากรมาเรียนร่วม Upskill Reskill เพื่อให้มีทักษะตรงความต้องการของตลาดแรงงาน 1200 คน และขณะนี้มีการขยายความร่วมมือกับสถานประกอบการมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการเปิดโอกาสให้แรงงานในโรงงานมาเรียนหลักสูตรวิศวกรรมการเกษตร จำนวน 30 คน  ดังนั้น ปี 2566 มทร.ล้านนา มีจำนวนนักศึกษา 15000 คน และในปี 2567 ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาอีก 2000 คน เป็น 17000 คน” รักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าว

 

ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือกับสถานประกอบการในการจัดทำหลักสูตรนั้น จะเน้นในกลุ่มสาขา S-CURVE 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะ New S-curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยมีการเปิดโอกาสให้แรงงานที่จบการศึกษาวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มัธยมศึกษาปีที่ 6  หรือเท่าเทียบ ได้มาศึกษาต่อ ให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น และมีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการมากขึ้น ปรับตัวทำงานร่วมกับนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ 

 

“จากการดำเนินการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์  โดยมีกลุ่มบริษัทในความร่วมมือ เช่น สยามมิชลีน บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด  บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท กรุงเทพ ไดอ์แคสซ์ติ้ง แอนด์ อินแจ๊กชั่น จำกัด  สมาคมเครื่องตัดไทย  บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด  กลุ่ม บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) และ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีการเรียนรู้สภาพการทำงานในสถานประกอบการ เพิ่มพูนประสบการณ์ หน่วยงานภาคเอกชนได้มีโอกาสพัฒนาบัณทิต และยังเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัย เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ เป็นต้น” รักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวและว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมจำนวนมาก และยังมีการพัฒนางานด้านนี้ต่อ ๆ ไปในอนาคต เพื่อพัฒนาคนให้สอดคล้องความต้องการของตลาด เทคโนโลยี และเพิ่มโอกาศในการมีงานทำของนักศึกษาต่อไป โดยความร่วมมือกับสถานประกอบการนี้ มทร.ล้านนายังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) ในการเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับภาคประกอบการ ทั้งนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมในหลักสูตรต่างๆกับสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะได้รับฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเดิม.