“ปิดฉากการประชุมความร่วมมือกองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย” The 8th Indian Ocean Naval Symposium (IONS) 2023 - 2025
วันที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 11.30 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานปิดประชุม “กองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย” The 8th Indian Ocean Naval Symposium (IONS) 2023 - 2025 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
การที่กองทัพเรือได้รับเกียรติจากกองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย รับหน้าที่ประธานกรอบการประชุมความร่วมมือกองทัพเรือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย Indian Ocean Naval Symposium (IONS) ระหว่างปี พ.ศ.2566 – 2568 โดยได้มีการจัดการประชุมรับส่งหน้าที่ จากกองทัพเรือประเทศฝรั่งเศส ในการประชุม IONS ครั้งที่ 8 (The 8th IONS/IONS 2023) ซึ่งกองทัพเรือได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ระหว่าง 19 – 22 ธ.ค.66 ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “Blue Economy : Ways Forward for Sustainable Development of IONS Member States” โดยภายในการประชุมฯ ประกอบด้วย การสัมมนาทางวิชาการตามหัวข้อหลัก (Symposium) งานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ (Official Dinner) การจัดการหารือระดับทวิภาคีระหว่างกองทัพเรือประเทศสมาชิก (Bilateral Meeting) และการประชุมระดับผู้บัญชาการทหารเรือ (Conclave of Chief)
จากการบรรยายทางวิชาการหัวข้อ “Blue Economy : Ways Forward for Sustainable Development of IONS Member States และการสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “ด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HARD)” การสัมมนาหัวข้อเกี่ยวกับ “การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการปฏิบัติงานร่วมกัน(IS&I)” และ การสัมมนา Panel Discussion “หัวข้อด้านความมั่นคงทางทะเล (MARSEC)” มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
- กองทัพเรือประเทศสมาชิก ต้องให้ความสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อเส้นทางคมนาคมทั้งในและระหว่างประเทศ
- กองทัพเรือประเทศต่างๆ ควรดำรงความร่วมมือในด้านการรักษาความมั่นคงต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (non-traditional threats) เช่น การช่วยเหลือผู้ประสพภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างการรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล (maritime domain awareness)
ทั้งนี้ การรักษาสภาวะแวดล้อมทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างยั่งยืน และกองทัพเรือทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามทางทะเลที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ
จากการสำรวจความคิดเห็นต่อ Blue Economy กับผู้บัญชาการทหารเรือ/ผู้แทน จากประเทศสมาชิกจำนวน 26 ประเทศ มีผลสำรวจดังนี้
1. Blue Economy มีความสำคัญต่อการรักษาความยั่งยืนต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลมากที่สุด โดยคิดเป็น 48.8% รองลงมาเป็นการปกป้องสภาพท้องทะเล คิดเป็น 31.7% ลำดับสุดท้ายเป็นการความเข้มแข็งของชุมชน คิดเป็น 0%
2. ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มอง Climate Change ว่าเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดต่อ Blue Economy โดยคิดเป็น 44.4 % รองลงมาคือการแข่งขันของภูมิภาคคิดเป็น 22.2% ลำดับสุดท้ายคือ การ Lock down จากการแพร่ระบาดของโลกคิดเป็น 4.4%
3. Information Sharing เป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกสามารถให้ความร่วมมือในการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลตาม Blue Economy ได้ มากที่สุด โดยคิดเป็น 40.9% รองลงมาคือ การให้ความรู้ด้านสมุทาภิบาล คิดเป็น 27.2% ลำดับสุดท้าย การใช้พลังงานหมุนเวียน คิดเป็น 4.55%
สำหรับกองทัพเรือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย Indian Ocean Naval Symposium (IONS) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก จำนวน 25 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน เคนยา มาเลเซีย มัลดีฟ โอมาน ปากีสถาน การ์ตา เซเชลล์ สิงคโปร์ ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทย มอริเชียส โมซัมบิก เมียนมา ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ติมอร์เลสเต และประเทศสังเกตการณ์ จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน จีน มาดากัสการ์ รัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรอินเดีย และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน โดยมีกำหนดจัดการประชุมทุกวงรอบ 2 ปี โดยในครั้งต่อไป กองทัพเรือประเทศอินเดีย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อไป