ภูมิธรรม’ นำภาคีประกาศเจตนารมณ์ สานพลังสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เสริมพลังคนเล็กคนน้อย – สร้างสมดุลอำนาจ พัฒนาบนพื้นฐานประชาธิปไตย
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และประธาน คสช. ร่วมประกาศเจตนารมณ์สานพลังขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ในงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16” ย้ำความสำคัญการสร้างสมดุลอำนาจให้คนตัวเล็กร่วมมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา ด้าน “ไซม่า วาเซด” ร่วมยกย่องกระบวนการสมัชชาสุขภาพของไทย เป็นตัวอย่างการมีส่วนร่วมสร้างระบบสุขภาพที่ตอบสนองประชาชน
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จากทั่วประเทศเข้าร่วมผ่านทาง on-site และ online จำนวนมาก
นายภูมิธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ สานอนาคตประเทศไทย” โดยระบุตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ตนเองในฐานะผู้มีอำนาจต้องคำนึงถึง คือการสร้างสมดุลระหว่างความมีอำนาจ และความไร้อำนาจในสังคม โดยเฉพาะการสร้างบทบาทให้ประชาชนหรือคนตัวเล็กๆ เข้ามาร่วมมีพลังอำนาจถ่วงดุลในสังคม ที่จะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาบนพื้นฐานของประชาธิปไตย ดังตัวอย่างการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ที่ช่วยให้เราได้เห็นภาพความหวัง ของเวทีในการสานพลังทุกภาคส่วนในสังคม เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานที่มีเป้าหมายเดียวกันให้นำไปสู่ความสำเร็จ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพและภาคีเครือข่ายที่ร่วมอยู่ในกระบวนการ ต่างมีประสบการณ์การทำงานด้านสุขภาวะที่มองไปไกลกว่าแค่เรื่องสุขภาพ แต่เชื่อมโยงไปยังทุกมิติของสังคม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เกิดเป็นการดึงเอาพลังของทุกภาคส่วนมาร่วมกันกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาในประเด็นต่างๆ เช่นเดียวกับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ภายใต้กรอบ ‘ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย’ ซึ่งถือเป็นกรอบแนวคิดที่ถูกต้อง และตรงกับบริบททางสังคม และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสังคมโลก
“การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งหากไม่มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อรองรับปัญหาร่วมกัน ผลกระทบในอนาคตก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่เราได้ภาคีเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่บูรณาการการทำงานและกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนมีความหวังในการก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า อีกทั้งล่าสุดที่มีการเพิ่มบทบาทวัดและพระสงฆ์ให้เป็นที่พึ่งด้านสุขภาวะที่ดี จะช่วยสร้างรากฐานของสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องพบกับภัยคุกคามหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งทุกปัญหาล้วนนำไปสู่ความเครียดของประชาชน ซึ่งก็เป็นปัญหาทางสุขภาพ รัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่รวบรวมสรรพกำลังเพื่อมาแก้ปัญหา โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวคิดการทำงานแก่คณะรัฐมนตรีที่ให้คำนึงถึง 3C เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. Common คำนึงถึงประชาชนเป็นเป้าหมายในการทำงาน ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างและทุกนโยบาย 2. Connectivity การแสวงหาภาคีเครือข่ายเพื่อมาร่วมกันทำงาน เพราะในสังคมปัจจุบันไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการเดินไปลำพัง แต่ภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจะเป็นความเข้มแข็งที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ 3. Can Do คือความเชื่อมั่นและความพยายามที่จะทำให้งานสำเร็จ และนำไปสู่เป้าหมายตามที่ตั้งความหวัง หรือหากเรื่องใดทำไม่ได้ ก็จะต้องไม่หยุดทำ แต่หาวิธีการหรือแนวทางอื่นๆ เพื่อทำต่อไปให้ได้
“วันนี้เราต้องยอมรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไทยเองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเกิดโรคอุบัติใหม่ ซึ่งล้วนส่งผลถึงเราได้หลากหลายด้าน แต่ทุกอย่างที่เป็นปัญหาก็อาจเป็นโอกาสที่ทำให้พวกเราได้ขบคิดและหาแนวทางใหม่ๆ เข้ามาจัดการ โดยผมเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวัง เพราะงานอย่างสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ที่ทำให้เห็นว่าประตูแห่งโอกาสได้ถูกเปิดออกแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะจับมือกันเดินผ่านประตูนี้ไปสู่ความหวัง ความฝัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งแต่เกิดจากพวกเราทุกคน” นายภูมิธรรม กล่าว
นอกจากนี้ภายในงาน นายภูมิธรรม และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ สานพลังหน่วยงาน องค์กรภาคี เครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพและสังคม โดยจะสานพลังความร่วมมือ ทั้งหน่วยงาน ภาควิชาการ องค์กรภาคี และเครือข่าย ให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ อันเป็นเป้าหมายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ในระดับประเทศและระดับพื้นที่ต่อไป
ด้าน น.ส.ไซม่า วาเซด ว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO Regional Director Elect) และประธานมูลนิธิ Shuchona Foundation (SF) ประเทศบังกลาเทศ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Institutionalizing Social Participation for Health and Well-being” ระบุตอนหนึ่งว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมระดับโลก ที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการอภิบาลระบบสุขภาพ โดยในปี 2562 วารสาร BMJ Global Health ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ถึงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่ากระบวนการนี้ได้กลายเป็นพลังให้กับสังคมได้อย่างน่าประทับใจ ช่วยให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นเดียวกัน แต่ต่างมุมมอง โดยยึดหลักความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกัน
น.ส.ไซม่า กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกทางสังคมที่สำคัญที่เอื้อให้เกิดการพัฒนานโยบาย โดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงขอชื่นชมอย่างมากที่กระบวนการนี้เน้นย้ำเรื่องของการมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และชื่นชมเป็นพิเศษที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่เป็นการทำกิจกรรมเพียงครั้งเดียวแล้วจบไป ภายใต้การมีส่วนร่วมที่มีภาครัฐ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมตลอดทั้งกระบวนการพัฒนานโยบาย
“เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในวันที่ 21 ก.ย. 2566 ได้มีการประกาศปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติ ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสังคม รวมถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในการอภิบาลระบบสุขภาพเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้ถือเป็นภาระหน้าที่ของพวกเรา ที่จะทำให้ความมุ่งมั่นของเหล่าผู้นําประเทศที่ประกาศ ปฏิญญาฯ นั้นเป็นจริงขึ้นมาได้” น.ส.ไซม่า กล่าว
น.ส.ไซม่า กล่าวด้วยว่า การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านสุขภาพ ยังมีคุณูประการมากมายไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ การช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งการเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชน ถือเป็นองค์ประกอบหลักของระบบปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตฉับพลันทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก เราจะยิ่งเห็นความสำคัญของการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม
“แนวทางระบบราชการแบบดั้งเดิมที่สั่งการจาก ‘บนลงล่าง’ มักนําไปสู่นโยบายที่แม้มีเจตนาดี แต่บ่อยครั้งไม่ส่งผลต่อชุมชนระดับรากหญ้าได้ตามที่ปรารถนา นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันชื่นชมในกระบวนการตัดสินใจจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ที่ทุกกลุ่มคนมีโอกาสเข้าร่วม ซึ่งก็คือวิธีการที่พวกท่านได้ดำเนินการอยู่ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ โดยรูปแบบการทำงานร่วมกันและมีส่วนร่วมนี้ จะสามารถนําไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น ดิฉันขอแสดงความยินดีกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมให้โลกประจักษ์มาอย่างยาวนาน และขอยืนยันที่จะสนับสนุนความพยายามต่างๆ ของพวกท่าน เป็นพันธมิตรร่วมกันในการที่จะพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นในอนาคต” น.ส.ไซม่า กล่าว