เมื่อ : 21 ธ.ค. 2566 , 313 Views
“กตป.” จัดเวทีเผยแพร่ผลการติดตามและประเมินผลนโยบาย กสทช. ท่ามกลางภัยสังคม มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า วันนี้ กตป. ได้จัดเวทีเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ เรื่อง “นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญของกสทช. ประจำปี 2566” โดย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ การสนทนากลุ่มย่อย (Focus group) รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) และทำการวิเคราะห์ ประเมินผลนโยบายที่สำคัญของ กสทช. 4 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำรายงานเพื่อนำส่งให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาเสนอต่อไปยังรัฐสภาเพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละด้านการทำงานของ กสทช. ต่อไป โดยมี นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เป็นประธาน

 

ผศ.ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566 เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว โดยวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะในวันนี้


ทั้งนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอ “ผลการศึกษาการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญ 4 เรื่องด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566” ประกอบด้วย 1) การแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน 2) การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) 3) เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภายหลังการรวม ธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC 4) การกำกับดูแลการโฆษณาแอบแฝงในกิจการโทรทัศน์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

 

สำหรับผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายงานติดตามและประเมินผลโดยต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนงานและมาตรการในการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนที่สำคัญ ดังนี้


1. การติดตามและประเมินผลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม ซึ่งแม้ว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะได้มีการออกประกาศออกมาใหม่ที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายดังกล่าวนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบและแพร่หลายเป็นการทั่วไป กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงควรต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตให้ปฏิบัติตามประกาศ ฯ อย่างเคร่งครัด และกำหนดให้ผู้รับอนุญาตแจ้งสิทธิโดยตรงและชัดเจนให้ผู้ใช้บริการทราบ รวมทั้งการจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของผู้ใช้บริการผ่านช่องทางการสื่อสารของผู้รับอนุญาตและช่องทางการสื่อสารของสำนักงาน กสทช.


2. การติดตามและประเมินผลการดำเนินการเรื่องการลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ควรกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาต เรื่องมาตรฐานกระบวนการในการลงทะเบียนและพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ และการควบคุมจำนวนการลงทะเบียนผู้ใช้บริการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม  โดยเฉพาะในส่วนที่ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานกระบวนการในการลงทะเบียนและพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ


3. การติดตามการดำเนินการในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศไทยและในต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงประชาชนของแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนในประเทศไทย


4. กสทช. ควรเสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีคณะทำงานและศูนย์ปฏิบัติการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. อัยการสูงสุด ปปง. รวมถึง เอกชนผู้ให้บริการโทรคมนาคม เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะมีอำนาจตามกฎหมายแตกต่างกันไป และศูนย์ปฏิบัติการร่วมควรพัฒนากลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนให้สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “มาตรการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนอย่างยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน อาทิ ดร. เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พล.ต.ต. อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกด้วย


ซึ่งเชื่อมั่นว่าข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมาจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ การรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดแก่ผู้บริโภคอย่างสูงสุดต่อไป