GISTDA ผนึกกำลัง ปตท. ร่วมพัฒนาโอกาสด้านธุรกิจอวกาศเน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อ 15 ธันวาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สังกัด อว. ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศและธุรกิจอวกาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือด้านธุรกิจอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลดาวเทียม เพื่อนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้งานซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือ 1) อุตสาหกรรมอวกาศในระดับต้นน้ำ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ รวมถึงสถานีควบคุมภาคพื้นดิน และการท่องเที่ยวในอวกาศ 2) อุตสาหกรรมอวกาศในระดับปลายน้ำ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลจากดาวเทียม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เช่น ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศแล้วทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันตามภารกิจเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือกลไกต่างๆรวมถึงยกระดับศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังเติบโต ที่สำคัญการดำเนินงานในทุกๆด้านจะต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนงาน มาตรการและแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อนาคตคนไทยจะต้องได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศอวกาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ด้าน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสในด้านธุรกิจอวกาศทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) อาทิ ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ การประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอนขั้นสูงจากกลุ่ม ปตท. เพื่อเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลดาวเทียม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในการการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การประเมินคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว เพื่อนำไปสู่การแสวงหาโอกาสด้านธุรกิจใหม่ของ ปตท. ในอุตสาหกรรมดาวเทียมเพื่อเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท.