เมื่อ : 15 ธ.ค. 2566 , 177 Views
มูลนิธิข้าวไทยฯ จัดการประชุมเวทีข้าวไทย 2566 ผนึกกำลังองค์กรเครือข่ายจัดเสวนา “ชาวนาไทยในอนาคต” และ “อนาคตของการค้าข้าวไทย” พร้อมโชว์นิทรรศการเทคโนโลยีสมัยใหม่

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดการประชุมเวทีข้าวไทยปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” โดยในงานจะมีเสวนากลุ่ม 2 ชุดคือ “ชาวนาไทยในอนาคต” และ ”อนาคตของการค้าข้าวไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมข้าวไทยและชาวนารุ่นใหม่ร่วมเป็นวิทยากรอย่างคับคั่ง อีกทั้งภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากองค์กรภาคีเครือข่ายมากมาย หวังยกระดับอนาคตของข้าวและชาวนาไทย เพื่อให้ชาวนาไทยสามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ และหวังที่จะเห็นสาธารณชนคนไทยยกย่องและใส่ใจในมรดกวัฒนธรรมข้าว และร่วมกันดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป

 

นางขวัญใจ โกเมส เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างอนาคตของข้าวไทยให้ดีขึ้น ชาวนาสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อเพิ่มผลิตผล และลดต้นทุนการผลิต โดยรักษาคุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อม และเข้าใจถึงกลไกของราคาข้าว กิจกรรมของโรงสีข้าว และการค้าข้าวทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัว สามารถเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ จึงจัดงานการประชุมเวทีข้าวไทยปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” โดยในงานจะมีเสวนากลุ่ม 2 ชุดคือ “ชาวนาไทยในอนาคต” และ ”อนาคตของการค้าข้าวไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมข้าวไทยและชาวนารุ่นใหม่ร่วมเป็นวิทยากรอย่างคับคั่ง ได้แก่ ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา รศ.ดร.อิสริยา บุญญะศิริ คุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา คุณนฤมล ฉัตรวิไล คุณสุภชัย ปิติวุฒิ คุณวัลลภ มานะธัญญา คุณวันนิวัติ กิตติเรียงลาภ คุณนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ คุณยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง และคุณสุทธิ สานกิ่งทอง”

 

ด้านนางสาวกัญญณัช ศิริธัญญา กรรมการบริหาร สถานีวิจัยรวมใจพัฒนาความรู้ และนักวิชาการอิสระ มทร.ล้านนา กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันมีสถานการณ์มากมายที่ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวนาไทยต้องเปลี่ยนไป สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมล้วนส่งผลกระทบต่อ กระบวนการผลิตข้าว ตั้งแต่การเตรียมดิน วิธีปลูกข้าวและการดูแลรักษานาข้าวจากปัญหาวัชพืช โรค และแมลง ทุกอย่างที่ชาวนาทำจะต้องใช้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องแรงงานที่ไม่เพียงพอ และปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ทำให้การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีค่อนข้างน้อยและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในการทำนาเป็นอาชีพยังมีน้อยมาก เพราะผลตอบแทนที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่คิดว่าไม่คุ้มค่าและการผลิตข้าวที่มีปริมาณผลผลิตและคุณภาพต่ำ แต่มีต้นทุนสูงทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน นั้นคือเป็นการทำนาที่มีรายได้ไม่พอกับต้นทุน จึงเกิดปัญหาชาวนา ทิ้งนาเข้าเมืองหารายได้  วัยทำงานที่เข้าเมืองส่งรายได้มาให้พ่อแม่ที่สูงอายุใช้จ้างผู้อื่นมาทำนา บางรายให้เช่าที่นา หรือในที่สุดขายที่นา ฉะนั้นชาวนาไทยจึงต้องปรับตัวสู่การเป็นชาวนาในอนาคตดังนี้

1.) สร้างการเปลี่ยนผ่านจากชาวนาที่สูงอายุ สู่ชาวนารุ่นใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

2.) สร้างองค์ความรู้แก่ชาวนาไทย บนพื้นฐานเทคโนโลยีการผลิตข้าว สู่ชาวนาในอนาคตในด้าน

2.1) เทคโนโลยีการผลิตข้าวด้วยเครื่องจักรที่เหมาะสม ทดแทน แรงงาน

2.2) เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ที่ทำให้ผลผลิตได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

2.3) เทคโนโลยีด้านพันธุ์ข้าว ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เหมาะสมกับตลาด

2.4) เทคโนโลยีการใช้โดรน และเทคโนโลยีการใช้เลเซอร์ปรับระดับแปลง

2.5) เทคโนโลยีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประเมินสภาพการการผลิต

2.6) เทคโนโลยีด้านชีวภัณฑ์ และอื่นๆ

2.7) การจัดการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ (Tailor made Technology)”

 

ด้านนายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการ บริษัท บางซื่อโรงสีเจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า “4 สมาคมประกอบด้วย  1.สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย 2.สมาคมโรงสีข้าวไทย 3.สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และ 4.สมาคมค้าข้าวไทย  พร้อมใจร่วมผนึกกำลังช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมแนะนำให้ชาวนาไทยเพิ่มผลิตผลต่อพื้นที่การปลูกให้มากยิ่งขึ้น และแนะนำให้ภาครัฐฯ เข้ามาช่วยดูแลการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้ข้าวมีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง และเข้ามาดูแลชาวนาไทยทั้งในด้านการเงิน เพื่อสร้างให้ชาวนาไทยเห็นถึงคุณค่าของตนที่เป็นส่วนสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทาน ที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการข้าวไทยในอนาคต”

 

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากองค์กรภาคีเครือข่ายมากมายได้แก่

· นิทรรศการ “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน สร้างวิถีสู่อนาคตชาวนาไทย” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

· แอปพลิเคชั่นไลน์บอทโรคข้าว จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

· แอปพลิเคชั่น ALLRice ระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย จากกรมการข้าว

· การพัฒนาชุดตรวจการปนเปื้อนของข้าวหอมมะลิไทยเพื่อการส่งออก จากกรมการข้าว

· คาร์บอนเครดิตในนาข้าว(ลดโลกร้อน) และเทคโนโลยีดาวเทียมโดรนจาก บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด

· ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการทำนา จากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด

· งานวิจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมข้าวของ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมเสวนากลุ่มทั้ง 2 ชุด “ชาวนาไทยในอนาคต” และ ”อนาคตของการค้าข้าวไทย”  ย้อนหลังได้ผ่านเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/ThaiRiceFoundationTh  และยูทูป https://www.youtube.com/@thairicefoundation1330/videos